ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
กรรมการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่ง ! เพราะทำสัญญาซื้อขาย โดยไม่ได้ให้คู่สัญญาวางหลักประกัน
20 ก.ค. 2564

ก้าวสู่สังคมธรรมาภิบาลกับศาลปกครอง : โดย ธัญธร ปังประเสริฐ พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

กรรมการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่ง !

เพราะทำสัญญาซื้อขาย โดยไม่ได้ให้คู่สัญญาวางหลักประกัน

ปัจจุบัน ... ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ ฯลฯ เนื่องเพราะการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ทั้งผลตอบแทนที่ได้รับ การมีอำนาจต่อรองการซื้อขายสินค้า ช่วยสร้างความสามัคคีในชุมชนหรือในหมู่สมาชิก การเป็นแหล่งส่งเสริมความรู้ รวมทั้งยังเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่สมาชิกอีกด้วย

                อย่างไรก็ตาม ... ในการจัดตั้งและดำเนินกิจการสหกรณ์นั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ตลอดจนระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องระมัดระวังในการทำหน้าที่ไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือของสมาชิก มิเช่นนั้นอาจถูกสอบสวนและถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้นะคะ ...

เช่นคดีพิพาทที่จะคุยกันในวันนี้ ... เป็นตัวอย่างของการดำเนินกิจการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ อันอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งต่อมาได้ถูกสอบสวนและถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยมี “ประเด็นชวนคิด” ที่น่าสนใจว่า ...

กรณีกรรมการได้ลาออกจากตำแหน่งไปก่อนที่การสอบสวนจะแล้วเสร็จ นายทะเบียนสหกรณ์จะมีคำสั่งให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้อีกหรือไม่ ?

                เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... เดิมผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู แห่งหนึ่ง ต่อมา ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ถึงที่ ๙ ได้หมดวาระลง แต่ยังรักษาการในตำแหน่ง ซึ่งในขณะที่รักษาการนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าก็ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการโดยมีผลในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๕ แต่ต่อมา นายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕ ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าพ้นจากตำแหน่ง ด้วยเหตุว่ามีการดำเนินธุรกิจจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่าย ซึ่งเป็นการกระทำนอกวัตถุประสงค์ของสหกรณ์รวมทั้งทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายจากการทำสัญญาซื้อขายสลากฯ โดยไม่ให้บริษัทคู่สัญญาวางหลักประกันไว้แก่สหกรณ์

                ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเห็นว่าตนได้ลาออกจากการเป็นกรรมการไปแล้ว ย่อมไม่มีสถานภาพเป็นกรรมการอีกต่อไป จึงไม่อาจมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการได้อีก นอกจากนี้ การมีคำสั่งดังกล่าวยังทำให้ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ไม่รับรองให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ เป็นกรรมการในชุดต่อมา โดยอ้างว่าได้ถูกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งจึงต้องห้ามเป็นกรรมการตามข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว

                ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้ามีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งที่พิพาท

 

  • คำวินิจฉัยชวนรู้

                ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าในฐานะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยไม่ได้ให้บริษัทที่เป็นคู่สัญญาวางหลักประกันไว้แก่สหกรณ์ เป็นเหตุให้สหกรณ์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากหลักประกันได้เมื่อมีการกระทำผิดสัญญาในเวลาต่อมา แม้จะอ้างว่าบริษัทได้วางหลักประกันเป็นแคชเชียร์เช็คไว้แล้วแต่หลักประกันมีข้อบกพร่อง จึงได้เรียกให้บริษัทดังกล่าวจัดหาหลักประกันใหม่ก็ตาม แต่เมื่อสหกรณ์ไม่อาจได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คที่กล่าวอ้างได้ และผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าไม่ได้ชี้แจงต่อศาลว่าหลักประกันมีความบกพร่องอย่างไร จึงฟังได้ว่าในวันทำสัญญาไม่มีการวางหลักประกันไว้ให้แก่สหกรณ์จริง

                แม้ว่าในภายหลังผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าจะได้ให้บริษัทมาทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยมีผู้ค้ำประกัน สั่งจ่ายเช็คธนาคารจำนวน ๓ ฉบับ ไว้ให้แก่สหกรณ์ ก็เป็นการดำเนินการภายหลังจากที่ทำสัญญาไปแล้ว เป็นเวลากว่า ๑ ปี อีกทั้งเช็คทั้ง ๓ ฉบับ ได้ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน กรณีจึงถือได้ว่ายังมิได้ดำเนินการจัดให้มีหลักประกันที่เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิก

                การกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าจึงเป็นกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของตน จนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก หรือสหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี จึงมีเหตุผลอันสมควรที่นายทะเบียนจะมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้

                ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าอุทธรณ์ว่า ในวันที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งพิพาท พวกตนได้ลาออกจากการเป็นกรรมการไปแล้วนั้น เมื่อในขณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการจนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์จริง และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดจำกัดไว้ว่า หากกรรมการลาออกจากตำแหน่งแล้ว นายทะเบียนสหกรณ์จะไม่มีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงหรือมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ นายทะเบียนสหกรณ์จึงย่อมมีอำนาจสั่งให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้ ตามมาตรา ๒๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงพิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๑๖๔/๒๕๖๔)

  • บทสรุปชวนอ่าน

คดีนี้ ... ถือเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสหกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินกิจการภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของสหกรณ์นั้น ๆ รวมทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และระเบียบปฏิบัติของสหกรณ์ที่ได้กำหนดไว้ ที่สำคัญต้องไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อผลประโยชน์ของสหกรณ์ ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจที่จะสอบสวนและสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ตามกฎหมายสหกรณ์ และการชิงลาออกก่อนไม่ได้มีผลทำให้นายทะเบียนไม่อาจมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้แต่อย่างใด ... ค่ะ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...