ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
การมีส่วนร่วมในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น กรณี อบต.โคกสว่าง และ อบต.โพธิ์ศรีสว่าง จ.ร้อยเอ็ด
16 พ.ค. 2568

สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับประชาชนชาวร้อยเอ็ดและองค์กรปกครอง

ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้แก่ อบต.โคกสว่าง อ.พนมไพร และ อบต.โพธิ์ศรีสว่าง อ.โพนทอง ผลักดันการริเริ่มกฎหมายท้องถิ่นโดยประชาชนในท้องถิ่นเอง (law Initiatives) ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 254 ได้รับรองให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติได้ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกันจำนวนไม่น้อยว่าสามพันคนหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งในยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมไปถึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2565 ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองแห่งจึงใช้ช่องทางของกฎหมายดังกล่าวในการริเริ่มกฎหมายท้องถิ่นเพื่อเป็นเครื่องมือในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหา
ในพื้นที่ในปัจจุบัน กล่าวคือ ประชาชนในพื้นที่ อบต.โคกสว่าง และ อบต.โพธิ์ศรีสว่าง มีความเห็นว่า ประเด็นเรื่องทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ใช้สอยทรัพยากรป่าไม้มากเกินไป และเกิดการทำลายระบบนิเวศน์ในป่า ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืนของป่า 

ท้ายที่สุดนำไปสู่การยกร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นของทั้งสองแห่ง กล่าวคือ กรณี อบต.โคกสว่าง ได้มีการยกร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสว่าง เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 จากการรวบรวมเอกสารและหลักฐานของการร่วมลงชื่อพบว่า มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์และแบบฟอร์มคำร้อง รวมทั้งสิ้น 219 คน ซึ่งถือว่าครบตามจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด (191 คน) ต่อมาสภา อบต.โคกสว่าง มีมติเห็นชอบให้ตราเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสว่าง และนายอำเภอได้ลงนามอนุมัติให้ประกาศใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว 

ขณะเดียวกัน กรณี อบต.โพธิ์ศรีสว่าง ได้มีการยกร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 จากการรวบรวมเอกสารและหลักฐานของการร่วมลงชื่อพบว่า มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นผ่านแบบฟอร์มคำร้อง รวมทั้งสิ้น 
260 คน ซึ่งถือว่าครบตามจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน (216 คน) ต่อมาสภา อบต.โพธิ์ศรีสว่าง มีมติเห็นชอบให้ตราเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง และนายอำเภอได้ลงนามอนุมัติให้ประกาศใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว 
ทั้งนี้ สาระสำคัญของข้อบัญญัติท้องถิ่นทั้งสองฉบับนี้ เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างมาตรการและกลไก ไม่ว่าจะเป็น กลไกคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบล คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน และคณะกรรมการที่ปรึกษา รวมถึงการจัดตั้งกองทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบลเพื่อดำเนินกิจกรรมการป้องกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการกำหนดมาตรการและวิธีการดำเนินการ ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับคณะกรรมการระดับหมู่บ้านและคณะกรรมการระดับตำบล ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยวิธีปกติ และจัดประชุมเพื่อแสวงหามาตรการหรือวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนเชิญบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ รวมทั้งทำข้อตกลงร่วมกับตำบลใกล้เคียง เพื่อหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จัดการร่วมกันต่อไป

ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีช่องทางในการกำหนดประเด็นหรือมีส่วนร่วมในการจัดสรรวาระทางกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาท้องถิ่น อันเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในประเด็นนั้น ๆ ได้โดยตรง เพราะอาจไม่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบรับรอง หรือกฎหมายหรือกฎระเบียบที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่นและพัฒนาท้องถิ่นของตนอีกด้วย 

 

คอลัมน์ : รอบรั้วสถาบันพระปกเกล้า  โดย : ศูนย์สื่อสารองค์กร
เขียนโดย  อินทุอร แสงอรัญ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า

 

 

 

 

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...