นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดทำโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ก.ย.63 ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลาย มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งในการบริหารจัดการแปลงใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ ต่อยอดด้านคุณภาพมาตรฐาน แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงการตลาด การลดต้นทุนการผลิต รายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
ในส่วนของภาคใต้ มี 13 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ (ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต) แปลงใหญ่ด้านพืชในการดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร(ยกเว้นข้าว) เข้าร่วมโครงการ จำนวน 123 แปลง ขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดได้โอนเงินให้กลุ่มแปลงใหญ่ไปดำเนินงานตามแผนแล้วทุกกลุ่ม รวมจำนวน 336,923,517 บาท โดยได้เร่งรัดให้ทุกจังหวัดเบิกจ่ายเงินให้ทันตามกำหนดภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 และให้เจ้าหน้าที่ติดตามแนะนำกลุ่มให้ปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด
นายอาทิตย์ ธรรมโสภณ ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลสมอทอง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า กลุ่มของตนเองได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเกือบ 3 ล้านบาท เป็นแปลงใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 มีสมาชิก 162 ราย พื้นที่ 3,180 ไร่ ปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เรียบร้อยแล้ว กลุ่มต้องการลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผสมปุ๋ยและผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง และเพิ่มผลผลิตโดยติดตั้งระบบน้ำในแปลง แต่เดิมนั้นสมาชิกได้รับความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยจากศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อำเภอท่าชนะ ต่อมาสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 1,700,000 บาท ให้กลุ่มใช้ก่อสร้างอาคารผสมปุ๋ยและสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ย ทำให้กลุ่มสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก
โดยเริ่มจำหน่ายและบริการผสมปุ๋ยให้แก่สมาชิกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2563 ซึ่งเกษตรกรใส่ปุ๋ยประมาณ 3 รอบต่อปี รอบละ 2.5 - 3.5 กิโลกรัมต่อต้น หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 180 กิโลกรัมต่อไร่ ปริมาณปุ๋ยเคมีที่ใช้ต่อปี ในพื้นที่ 3,180 ไร่ จำนวน 572,400 กิโลกรัม หรือประมาณ 12,000 กระสอบ (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) โดยกลุ่มจะขายให้สมาชิกในราคาต้นทุนบวกกระสอบละ 70 บาท เพื่อเข้าเป็นเงินกองทุนของกลุ่ม ราคาเฉลี่ยที่ขายให้สมาชิกกระสอบละ 650 บาท ขึ้นอยู่กับสูตรปุ๋ยที่ผสมแต่ละแปลง ราคาปุ๋ยสูตรสำเร็จในท้องตลาดประมาณ 900-1,000 บาท แตกต่างกันประมาณ 250 บาทต่อกระสอบ ลดต้นทุนลงได้ถึงปีละ 3 ล้านบาท การเข้าโครงการยกระดับฯ กลุ่มนำงบประมาณที่รัฐช่วยเหลือไปซื้อรถขุดเพื่อวางระบบน้ำและจัดการสวนปาล์มน้ำมัน ช่วยกลับกองปุ๋ยหมัก และสร้างโรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์มน้ำมัน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการใช้ปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมีจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินและพัฒนาคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุนได้ด้วยอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ กลุ่มได้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (RSPO) โดยจัดทำทะเบียนสมาชิกแปลงครบทุกรายแล้ว และอบรมให้ความรู้สมาชิกไปแล้ว 5 ครั้ง อยู่ในระหว่างพัฒนาให้เป็นไปตามข้อกำหนด คาดว่าสามารถผ่านการรับรองได้ในปี 2565 ทำให้กลุ่มสามารถซื้อทะลายปาล์มน้ำมันจากบริษัทได้ในราคาพิเศษ สำหรับผลผลิตปาล์มเฉลี่ยของสมาชิกแปลงใหญ่อยู่ที่ 3,250 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าเกษตรกรทั่วไป แต่แปลงเรียนรู้ของเกษตรกรต้นแบบแปลงใหญ่ที่จัดทำระบบให้น้ำผลผลิตสูงถึง 5,160 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ดังนั้นการให้น้ำที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้มาก ในด้านคุณภาพสมาชิกจะตัดปาล์มสุกที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% และมีการปูทางใบเพื่อลดการใช้สารเคมี ทั้งนี้กลุ่มขอขอบคุณไปยังรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตรที่มีโครงการดีๆ มาช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์เช่นนี้