คำถามที่ถูกถามบ่อย :FAQ
Q 1 : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2559 เป็นการให้สิทธิประโยชน์อะไร
A : ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 มาหักเป็น
ค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2559 ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
Q 2 : การให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ในระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่
31 ธันวาคม 2559 มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข อย่างไร
A : การหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ดังนี้
1. ผู้มีเงินได้ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการ และชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการระหว่างวันที่ 14 – 31 ธันวาคม 2559
2. ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
(มีชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี)
3. เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7
4. สินค้าและบริการนั้น ไม่รวมถึง
(1) การซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
(2) การจ่ายค่าบริการนำเที่ยวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และการจ่ายค่าที่พักในโรงแรม
Q 3 : ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการใดบ้าง ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามมาตรการนี้
A : 1. สินค้าทุกประเภท ยกเว้น การซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
2. บริการทุกประเภท ยกเว้น ค่าบริการนำเที่ยวและค่าที่พักโรงแรม
ทั้งนี้ สินค้าและบริการนั้นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 และ ต้องชำระค่าสินค้าและใช้บริการระหว่างวันที่ 14 - 31 ธันวาคม 2559
Q 4 : กรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 14 - 31 ธันวาคม 2559 แต่ได้ใช้บริการหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่
A : ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากต้องชำระค่าบริการและใช้บริการในช่วงวันที่ 14 - 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้น
Q 5 : กรณีจ่ายค่าที่พักโรงแรม หรือจ่ายค่าบริการนำเที่ยว ระหว่างวันที่ 14 - 31 ธันวาคม 2559 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ ได้หรือไม่
A : ไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ เนื่องจากการจ่ายค่าบริการนั้น ไม่รวมถึงการจ่ายค่าที่พักโรงแรม และค่าบริการนำเที่ยว อย่างไรก็ดี ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าที่พักโรงแรมและค่าบริการนำเที่ยว ไปหักลดหย่อนได้ตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว (กฎกระทรวงฉบับที่ 316 และ 322)
Q 6 : ต้องใช้หลักฐานใด ในการใช้สิทธิหักลดหย่อน
A : หลักฐานที่ใช้ คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร (ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ)
Q 7 : ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อน หมายถึงอะไร
A : ใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ
Q 8 : ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อ หรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไข สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้หรือไม่
A : หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะมีการเขียนชื่อ หรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถใช้หักลดหย่อนได้
Q 9 : กรณีซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการหลายครั้ง (มีใบกำกับภาษีหลายใบ) ระหว่างวันที่ 14 - 31 ธันวาคม 2559 จะสามารถนำมูลค่าการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการแต่ละครั้งมารวมกันเพื่อใช้สิทธิได้หรือไม่
A : การซื้อสินค้าหรือค่าบริการในแต่ละครั้งหากมีมูลค่าไม่ถึง 15,000 บาท สามารถนำการซื้อหลายครั้งมารวมกันได้ แต่ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15,000 บาท
Q 10 : กรณีใบกำกับภาษีมีทั้งรายการสินค้าและบริการ ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะหักลดหย่อนอย่างไร
A : สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าสินค้าและค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม