พิธา อภิปรายหั่นงบกระทรวงกลาโหม 2.6 หมื่นล้าน ยก 3 เหตุผลที่กองทัพไม่ควรจัดซื้ออาวุธ ในขณะที่คนไทยเสียชีวิตจากโรคระบาดโควิด-19 จำนวนมาก
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในส่วนของมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม วงเงิน 92,753,279,000 ล้านบาท ที่มี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขอสงวนความเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วาระที่ 2 ในมาตรา 8 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ โดยมีการอภิปรายตัดงบประมาณลง 26,773 ล้านบาท เนื่องจากกองทัพไม่ควรจัดซื้ออาวุธในวันที่ประชาชนล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง และไม่ควรซื้อยุทโธปกรณ์ในวันที่ประชาชนต้องการวัคซีนมากกว่ากระสุน
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้กองทัพเรือได้ถอนเรือดำน้ำออกจากงบประมาณปี 2565 แต่ยังมีงบประมาณสิ่งก่อสร้าง ยุทโธปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำและอาวุธขนาดใหญ่อีกมากมาย ทั้งท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือ ดำน้ำ คลังเก็บตอร์ปิโด เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบก และระบบสื่อสารของเรือดำน้ำ หรือจะเป็นโดรนไร้คนขับ เป็นงบผูกพันกว่า 14,000 ล้านบาท เป็นงบปี 2565 ประมาณ 3,000 ล้านบาท
ตัวอย่างของอาวุธที่ควรตัดงบคืนโครงการซื้อโดรนขนาดใหญ่ของกองทัพเรือ มูลค่า 4,100 ล้านบาท มี 3 เหตุผลดังนี้
1. เหตุผลทางความปลอดภัย มีสถิติตกด้วยอุบัติเหตุมากกว่าครึ่ง สร้างความเสียหายให้ประชาชน
2. เหตุผลทางความมั่นคงของชาติ เนื่องจากระบบควบคุมผ่านดาวเทียมที่ต่างชาติเข้าถึงข้อมูลได้
3. เหตุผลทางงบประมาณ มีรายงานออกมาว่าโดรนไม่ได้ประหยัดกว่าการลาดตระเวนด้วยเครื่องบินปกติ
ทั้งนี้ กองทัพสหรัฐฯ และกองทัพอินเดียพิจารณาลดการใช้โดรนขนาดใหญ่ลงแล้ว ซึ่งการกระทำของกองทัพเรือนอกจากจะผิดที่ ผิดเวลา ผิดกาลเทศะแล้ว ยังสวนกับทิศทางความมั่นคงในระดับโลก ด้วย 3 เหตุผลดังกล่าว จึงขอสงวนความเห็นและขอตัดงบมาตรา 8