นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้มีการเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ รวมถึงสนับสนุนและผลักดันให้โรงงานสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออกภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ ร่วมดำเนินการควบคุมและป้องกันตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยแนวทางหลัก ได้แก่
1.การดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) การใช้วิธีให้แรงงานทำงานและพักอาศัยอยู่ภายในโรงงานหรือการเดินทางไปกลับที่พักและโรงงานโดยไม่แวะระหว่างทาง 2.การจัดทำแผนตรวจคัดกรองเชิงรุก และการสุ่มตรวจด้วย ATK อย่างต่อเนื่อง 3.จัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรทุกคน
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากแนวทางควบคุมและป้องกัน ได้แก่ 1.รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก ลดผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต เช่น ผู้บริโภคขาดแคลนอาหาร โรงงานแปรรูปอาหาร ขาดแคลนวัตถุดิบ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2แสนล้านบาท
2. ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อและสร้างสมดุลระหว่างมาตรการทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ 3.สร้างความเชื่อมั่นทางด้านความปลอดภัยอาหาร แก่ผู้บริโภค และประเทศคู่ค้าของไทย 4.รักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตส่งออก
โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ และผู้ประกอบการ มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด รวมไปถึงการเก็บตัวอย่างสินค้า หากพบมีความเสี่ยงหรือปนเปื้อนเชื้อ กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้ทำการจำหน่ายหรือส่งออกในทันที นอกจากนี้ ลักษณะของโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์นั้นเป็นไปตามหลักการผลิตที่ดี (GMP) มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน ดังนั้น หากพบการติดเชื้อของพนักงานในโรงงาน จะสามารถคัดแยกผู้ติดเชื้อออกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปตามแนวทางบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) ของกรมควบคุมโรค
โรงงานสินค้าปศุสัตว์ที่พนักงานตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากถูกสั่งปิดและขาดแรงงาน ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อาจได้รับผลกระทบจากการรอนำสัตว์เข้าเชือดซึ่งโรงงานในบางจังหวัดถูกสั่งปิดเป็นเวลาสั้นๆ 5-7 วัน แต่บางจังหวัดอาจถูกสั่งปิด 14 วัน
สำหรับ การส่งออกยังไม่มีหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้าของต่างประเทศได้แสดงความกังวลมาแต่อย่างใด ยกเว้นสาธารณรัฐประชาชนจีนหากพบว่าโรงงานใดที่ตรวจพบคนงานติดเชื้อ กรมปศุสัตว์ต้องชะลอการส่งออกชั่วคราวตามข้อกำหนดจีน ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิดในภาพรวมได้ พนักงานหายป่วยกลับมาทำงาน รวมถึงการมีแรงงานเข้ามาชดเชย ก็มั่นใจว่า สิ้นปีนี้ยอดส่งออกสินค้าปศุสัตว์จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน