ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
พม.ห่วงสถานเลี้ยงเด็กเล็กทั่วปท.เร่งดูแลเข้มงวดโควิด
01 ก.ย. 2564

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เปิดเผยว่า  ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กระทรวง พม. มีความห่วงใยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังหลังพบแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์เด็กและเยาวชนติดเชื้อโควิด-19 รายวัน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 พบเด็กติดเชื้อ จำนวน 2,245 คน แบ่งเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 514 คน และภูมิภาค 1,770 คน อีกทั้งยังมีเด็กที่ไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้เร่งเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามภารกิจ อาทิ การมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อุปกรณ์การเรียน  การมอบเงินสงเคราะห์ เงินฉุกเฉิน เงินช่วยเหลือกองทุนคุ้มครองเด็ก การให้คำปรึกษาแนะนำด้านสิทธิและสวัสดิการสังคม และการประสานส่งต่อความช่วยเหลือต่างๆ เป็นต้น

      นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-6 ปีบริบูรณ์ นับเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จำเป็นต้องได้รับช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อ-แม่ และผู้ปกครอง รวมถึงผู้ดูแลในสถานรับเลี้ยงเด็ก ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความประสงค์จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก ให้เข้ารับการจดทะเบียนตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก พ.ศ. 2549 ออกตามความแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งขณะนี้ มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่จดทะเบียนกับกระทรวง พม. คือสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,357 แห่ง ซึ่งนอกจากสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนจะมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางกระทรวง พม. ได้มีแนวทางสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนอีกด้วย อาทิ   1) การจัดทำ "คู่มือการป้องกัน COVID-19 ในเด็กปฐมวัยของสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน" โดยจัดพิมพ์ จำนวน 5,000 เล่ม และมอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนทั่วประเทศ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร  2) การจัดทำแผ่นพับมาตรการกลาง คำแนะนำป้องกันตนเองและการปฏิบัติด้านสุขอนามัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยจัดพิมพ์ จำนวน 100,000 ฉบับ มอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ ผู้ปกครอง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 76 จังหวัด คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัด และกรุงเทพมหานคร  และ 3) กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สมาคมพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กไทย รวบรวมรายชื่อผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศที่แจ้งความประสงค์ขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,100 คน เสนอต่อผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อขอรับการสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 953 คน เป็นต้น

     นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเด็กที่อยู่ในความคุ้มครองดูแลของสถานสงเคราะห์สังกัดกระทรวง พม. ทั่วประเทศ  นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวง พม. ได้กำชับให้ทุกสถานสงเคราะห์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ งดการเข้า-ออกสถานสงเคราะห์ของเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอก ตั้งจุดตรวจคัดกรอง  สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะโดยตรง และฉีดพ่นทำความสะอาดอาคารสถานที่เป็นประจำ เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเด็กในสถานสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล นอกจากนี้ ยังได้กำชับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่ และให้หน่วยงานจัดบริการห้องอาบน้ำสำหรับชำระร่างกาย ก่อนเข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงาน

     นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลและการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด- 19 ระดับจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19  บริการ Line Official Account @savekidscovid19  บริการ Mobile Application คุ้มครองเด็ก บริการแพลตฟอ์ม @linefamily และ www.เพื่อนครอบครัว.com

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...