ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
กระบะทราย ชายทะเล ต้องทำ เพราะเป็นทางรอด
05 ก.ย. 2564

#CSRcontent : โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

กระบะทราย ชายทะเล ต้องทำ เพราะเป็นทางรอด

Phuket Sandbox โมเดลที่เป็นความหวังของรัฐบาล ของชาวภูเก็ต ของธุรกิจท่องเที่ยว เป็นตัวทดสอบสัญญาณว่า ไทยจะพร้อมเปิดประเทศรับผู้มาเยือนจากต่างแดนภายใน 120 วัน ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 หรือไม่ เราเปิด Phuket Sandbox กันอย่างเอิกเกริกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 แต่ผ่านมา 1 เดือนครึ่ง ข่าวคราวค่อยเงียบหาย มีข่าวการติดโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคนไทยและต่างชาติ จนผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประกาศมาตรการเข้มปิดเกาะเพื่อควบคุมการระบาดจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ขณะที่อาชญากรรมเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม Phuket Sandbox ได้ไปต่อ 

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  แถลงผล Phuket Sandbox ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ถึง 14 สิงหาคม 2564 ว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ 20,727 คน สร้างรายได้ 829 ล้านบาท และสร้างรายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจเกือบ 2 พันล้านบาท  61% ของนักท่องเที่ยวเดินทางกลับประเทศต้นทาง และ 35% เดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยพบว่า นักท่องเที่ยว 84% พึงพอใจมากที่สุดในอัธยาศัยไมตรีของคนภูเก็ต และ 85% พึงพอใจมากที่สุดในคุณภาพและการบริการของโรงแรม SHA+ มาตรฐาน SHA หรือ Safety & Health Administration คือ แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งมาจากมาตรการด้านสาธารณสุขบวกกับมาตรฐานของสินค้าทางการท่องเที่ยว

ส่วน SHA+ ที่มีความสำคัญกับ Phuket Sandbox เพิ่มเงื่อนไขว่า พนักงานต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 แล้วไม่ต่ำกว่า 70% ของทั้งองค์กร และ 100% ของพนักงานด่านหน้าที่ต้องพบเจอนักท่องเที่ยวทุกวัน ผู้ประกอบการที่พักที่ได้มาตรฐาน SHA+ จะมีตำแหน่ง SHA+ Manager ทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลนักท่องเที่ยวและรายงานผลต่อศูนย์ปฏิบัติการ ประสานงานจัดหาโรงพยาบาลเพื่อนำส่งตรวจเชื้อโควิด19 ตามกรอบเวลา และดูแลในกรณีที่ติดเชื้อ

Phuket Sandbox ได้ก้าวต่อไปยัง Phuket Sandbox 7+7 เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในกลุ่มอันดามัน คือจังหวัดพังงาและจังหวัดกระบี่ ในรูปแบบ Seal Route แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กำหนดไว้ที่เกาะพีพี เกาะไหง และอ่าวไร่เลย์ ส่วนจังหวัดพังงา กำหนดไว้ที่เขาหลักและเกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย โดยนักท่องเที่ยวจะต้องพักอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนเป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นสามารถไปเที่ยวต่อที่กระบี่และพังงาได้ จะเห็นได้ว่า จุดขายของประเทศไทย คือเมืองชายทะเลที่คาดหวังให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกในระยะแรกของการเปิดประเทศ ดังนั้น ความพร้อมของไทยนอกจากการรับมือกับโควิด-19 แล้ว ยังต้องรวมถึงการดูแลความปลอดภัย การควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบของผู้ประกอบการท่องเที่ยว และมีทรัพยากรทางทะเลที่สวยงามและสมบูรณ์

เมื่อกรอบความร่วมมือ UN Global Compact :UNGC เพื่อผนึกกำลังสร้างโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2542 โดยนายโคฟี่ อันนัม อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยมีองค์กรธุรกิจที่เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก UNGC  และร่วมกันจัดตั้ง Giobal Compact Network Thailand : GCNT ขึ้นเมื่อปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 70 องค์กร มีเป้าหมายการปฏิบัติการอย่างยั่งยืนร่วมกันตามแนวทางของ Social Development Goals: SDGs 17 ข้อ ซึ่งในข้อ 14 กล่าวถึง Life Below Water การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ก่อนเปิด Phuket Sandbox  มีกิจกรรม CSR อนุรักษ์ทะเล Phuket – Save the Sea Project ที่จัดโดยภาครัฐ ร่วมกับเอกชน และจิตอาสา อาทิ Underwater Photo Marathon การแข่งขันถ่ายภาพใต้น้้าต่อเนื่อง 7 วัน หัวข้อ อนุรักษ์ทะเลภูเก็ต กิจกรรม Diving Fun & Fair ดำน้้าเพื่อการอนุรักษ์และนันทนาการ การแสดงประติมากรรมขยะทะเลสร้างสรรค์ การเก็บขยะชายหาด เป็นต้น  หากแต่กิจกรรมอนุรักษ์มากมาย ไม่ทันกับการทำลายครั้งเดียว ย้อนกลับไป 1 ปี ก่อน Phuket Sandbox เฟสบุ๊คจิตอาสา Go Eco Phuket รายงานภาพกลุ่มนักดำน้ำนั่งถ่ายภาพบนซากเรือปะการังเทียม  บริเวณเกาะราชาใหญ่ เป็นเหตุให้สังคมกังวลถึงผลกระทบและความเหมาะสมของพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อปะการังอ่อนและพืชขนาดเล็กที่ขึ้นปกคลุมซากเรือลำนี้แล้ว

พร้อมฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการกระทำดังกล่าว เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำรวมถึงทรัพยากรทางทะเลอื่นๆ อย่างเข้มงวด และลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง อย่าว่าแต่จะขึ้นไปเหยียบย่ำ กระทั่งครีมกันแดดที่มีสารอันตรายก็ยังเป็นตัวการที่ทำให้ปะการังในท้องทะเลอ่อนแอเสื่อมโทรมลงได้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เห็นชอบให้แบนการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีสารเคมีอันตราย 4 ประเภท ในเขตอุทยานแห่งชาติประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564 โดยให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ Reef Safe และ Ocean Friendly เท่านั้น

เมื่อต้นปี 2553 เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงเกิน 30.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิด ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องในระบบนิเวศ หนึ่งในแนวคิดเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ คือ การสร้างแหล่งดำน้ำโดยมนุษย์ (Man-made Dive sites) เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อแนวปะการังธรรมชาติให้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ศึกษาและพัฒนาการนำเรือรบหลวงมาจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล โดยร่วมกับภาครัฐและประชาชน ได้แก่ กองทัพเรือ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตัวแทนผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยกองทัพเรือสนับสนุนเรือรบหลวง 2 ลำ คือ เรือหลวงปราบ และเรือหลวงสัตกูด ด้วยเกียรติภูมิและขนาดของเรือมีความเหมาะสมสำหรับการวางเป็นปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งดำน้ำ   

หลักเกณฑ์สำคัญของการเลือกพื้นที่วางเรือ คือ ต้องช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับแนวปะการังได้จริง เป็นตำแหน่งที่นักดำน้ำสามารถเดินทางมาได้สะดวก และไม่ไกลจากแนวปะการังธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวเดิมมากนัก โดยกำหนดตำแหน่งวางเรือหลวงปราบ ที่เกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร ที่เป็นเกาะสัมปทานนกนางแอ่น มีผาหินปูนสูงชัน และเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่มีชื่อเสียง และวางเรือหลวงสัตกูดที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใกล้กองหินขาว ซึ่งเป็นจุดดำน้ำสำคัญอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เกาะติดจำนวนมาก เช่น ปะการัง เห็ดทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหาฯ

ในวันแรกพบฝูงปลามงเข้ามาว่ายวนเวียน ผ่านไป 1 ปี มีปลาเพิ่มมากกว่า 40 ชนิด และปัจจุบัน พบว่ามีปลาเพิ่มขึ้นถึง 60-70 ชนิด โดยเฉพาะที่เรือหลวงปราบ จะพบเห็นฉลามวาฬได้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับสัตว์เกาะติดมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในระดับความลึก 18 เมตร พบฟองน้ำเคลือบและที่ระดับความลึก 25 เมตร พบปะการังดำซึ่งเป็นสัตว์พันธุ์เด่น (Dominant Species)

นับตั้งแต่วางเรือมา 10 ปี เรือทั้งสองลำทำหน้าที่เสมือนเป็นปะการังเทียมแทนแนวปะการังธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดที่เข้ามาอาศัยบริเวณลำเรือ ช่วยพัฒนาให้สถานที่แห่งนี้เป็น "แหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล" ของนักดำน้ำและนักท่องเที่ยวทั่วโลก มีผู้เยี่ยมชมกว่า 28,000 คนต่อปี สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ปีละกว่า 59 ล้านบาท

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่าทำเพราะสงสารทะเล แต่ต้องทำเพราะเป็นทางรอด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...