ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
อุทธาหรณ์ เบิกเงินเท็จ (2)
05 ก.ย. 2564

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

อุทธาหรณ์ เบิกเงินเท็จ (2)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ คราวที่แล้วเล่าเรื่องอาจารย์มหาวิทยาลัยนำภรรยาตัวเองรับงานจ้างในหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ ซึ่งศาลคดีอาญาทุจริตฯ ตัดสินจำคุกอาจารย์คนนี้ แกอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ คราวนี้คงมาฟังว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาในข้อเท็จจริงสรุปว่าอย่างไรกันครับ

คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาในแต่ละประเด็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า จําเลยได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้รับผิดชอบในโครงการศูนย์บริการข้อมูลเทคโนโลยีที่เหมาะสมสําหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (RISE-AT) ในหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการตามคําสั่งมหาวิทยาลัย และคําสั่งแต่งตั้งจําเลยให้ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกตําแหน่งหนึ่งตามคําสั่งมหาวิทยาลัย และการดําเนินงานใช้สถานที่ บุคลากรของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย มีการสนับสนุนด้านการเงินจากหน่วยงานความร่วมมือ GTZ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

โอนเงินผ่านสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นหน่วยงานราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น มีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัย นําฝากเข้าบัญชีเฉพาะตามบัญชี Rise-AT/Two ถึงบัญชี Rise-AT/FIVE ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของข้อตกลงระหว่างกันและตามประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการบริหารเงินลงทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกและประกาศสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องแนวปฏิบัติในการบริหารทุนการวิจัยและพัฒนา

ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้จําเลยกํากับดูแลการดําเนินการโครงการศูนย์บริการข้อมูลเทคโนโลยีที่เหมาะสมสําหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริหารการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จําเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด จำเลยมีอำนาจลงนามเบิกถอนเงินจากบัญชีโครงการ และปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าโครงการในหน้าที่เดิม ข้อที่อ้างว่า จําเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการเฉพาะระยะที่ 2 เท่านั้น ระยะอื่นๆ จําเลยทํางานบริหารในหน้าที่เดิมในฐานะลูกจ้างของหน่วยงานความร่วมมือ GTZ นอกเวลาราชการ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

อีกทั้งเมื่อถือว่า เงินอุดหนุนงานวิจัยถือเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย จึงมิใช่เรื่องมีข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาที่จะต้องใช้บังคับตามกฎหมายต่างประเทศอีก ข้อที่จําเลยอ้างว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าว มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน จึงยังถือไม่ได้ว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าว เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย เมื่อเงินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยตามระเบียบดังกล่าวแล้ว การไม่ปฏิบัติตามระเบียบในส่วนของการรับเงิน ไม่เป็นเหตุให้เงินนั้น กลับกลายไม่เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ทั้งมีการฝากเงินไว้ในบัญชีเฉพาะ ซึ่งสามารถตรวจสอบการรับเงินได้ อันเป็นไปตามระเบียบ 

ส่วนข้อที่ต้องคืนเงินหากเงินเหลือใช้นั้น ไม่เป็นเหตุผลสนับสนุนให้ฟังว่า ไม่เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหาย มีอํานาจแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาจําเลยเป็นคดีอาญาได้ นอกจากนี้ สัญญาจ้างงานชั่วคราวภริยาของจำเลยเป็นที่ปรึกษาโครงการ รวม 3 สัญญา จําเลยเป็นผู้ลงนามผู้ลงนามชื่อภริยาในสัญญาจ้างชั่วคราวทั้ง 2 สัญญา และรับเงินในฐานะผู้รับจ้าง โดยมีหนังสือมอบอํานาจของภริยา แต่ให้จําเลยลงนามแทน ตามหนังสือมอบอํานาจ ผลงานตามสัญญาจ้างชั่วคราว ซึ่งในข้อนี้ มีพยานยืนยันว่า ไม่เคยเห็นหนังสือมอบอํานาจที่ภริยาจำเลยไม่ได้ทำงาน แต่รับเงินค่าตอบแทนที่ปรึกษา ทั้งไม่มีบุคคลใดพูดถึงภริยาจำเลยว่า เคยปฏิบัติงานในศูนย์บริการข้อมูล

นอกจากนี้ ในชั้นสอบสวนวินัยร้ายแรง ภริยาจำเลยดูเอกสารการรับเงินยืนยันว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของตน แต่มาอ้างภายหลังว่า ตนได้ทําหนังสือมอบอํานาจให้จําเลยลงชื่อรับเงินแทน คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเห็นว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดวินัยร้ายแรงมีมติให้ไล่จําเลยออกจากราชการ จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่า จําเลยเปิดบัญชีเงินสมทบเพื่อถ่ายโอนเงินจากบัญชีโครงการ RISE-AT

พฤติการณ์ที่ได้มีเหตุผลบ่งชี้ได้ว่า จำเลยจัดทําสัญญาจ้างชั่วคราวภริยาตนอันเป็นเท็จ เพื่อเป็นหลักฐานทั้งฎีกาเบิกเงินออกจากเงินสนับสนุนโครงการ RISE-AT โดยโดยไม่ได้มาทํางานเป็นที่ปรึกษาที่มีสิทธิได้ค่าตอบแทนการทํางาน มาพักไว้ในบัญชีเงินสมทบ และมีการเบิกถอนเงินออกไปเป็นค่าตอบแทนประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ โดยจําเลยรู้ว่า ตนไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในตําแหน่งประธานกรรมการบริหารโครงการ จําเลยจึงไม่ได้ทําเรื่องเบิกถอนเงินจากเงินในบัญชีโครงการ RISE-AT โดยตรง อันเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต และใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตเป็นเหตุให้เสียหายแก่มหาวิทยาลัย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147, 151 อันเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์เป็นของตนเอง ตามมาตรา 147 รวม 3 กระทง จำคุก กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี กับให้จำเลยคืนเงินจำนวน 671,000 บาท แก่ผู้เสียหาย 

เห็นมั้ยครับท่านผู้อ่าน จำเลยคนนี้เป็นถึงรองศาสตราจารย์ ระดับ9 กระทำการทุจริตตั้งแต่ทำเอกสารเท็จในการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ปลอมแปลงเอกสารอ้างเอาเป็นการจ้างภริยาตนเองเป็นที่ปรึกษา ทั้งที่ไม่เคยไปทำงานจริงและมีการเบิกเงินออกไปใส่ในบัญชีที่ทำขึ้นเพื่อรองรับเงินช่วยเหลือไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เงินดังกล่าว เมื่อเป็นเงินช่วยเหลือโครงการของมหาวิทยาลัย จึงต้องถือเป็นเงินรายได้ที่การเบิกจ่ายต้องเป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เมื่อมีการร้องเรียนเรื่องทุจริตขึ้น การสืบค้นพยานหลักฐานย่อมไม่เป็นการยากครับ ร่องรอยทุจริตย่อมปรากฎอยู่เสมอครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...