คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการเพิ่มจุดนำเข้าและจุดส่งออก 7 จุด (ตามกราฟิก) ในภาคผนวกของพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยจัดให้มีการลงนามพิธีสารร่วมกันในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 (The 7th ASEAN-China Ministerial Meeting on SPS Cooperation) ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในวันที่ 13 กันยายน 2564 นี้
“ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เห็นชอบร่วมกันในการเพิ่มจุดนำเข้าและจุดส่งออกในภาคผนวกของพิธีสารดังกล่าว โดยขอให้เพิ่มจุดนำเข้าและจุดส่งออกของสาธารณรัฐประชาชนจีน 6 แห่ง คือ ด่านหลงปัง ด่านรถไฟโมฮาน ด่านสุยโข่ว ด่านเหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว และด่านเทียนป่าวและขอเพิ่มจุดนำเข้าและจุดส่งออกของไทยอีก 1 ด่าน ได้แก่ ด่านหนองคาย”
ทั้งนี้ สาระสำคัญตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เคยลงนามเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547
ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดของใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกักกันโรคและการตรวจสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยกับจีน และได้มีการกำหนดจุดนำเข้าและจุดส่งออกสำหรับการขนส่งผลไม้ของทั้ง 2 ฝ่ายไว้ และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือเพิ่มเติมจุดดังกล่าวก็สามารถเพิ่มเข้าไปในภาคผนวกของพิธีสารนี้ได้ผ่านการหารือเห็นชอบร่วมกัน
ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 13 กันยายน 2564 จะมีการลงนามพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งการเพิ่มเติมจุดนำเข้าและจุดส่งออกครั้งนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าสู่ตลาดจีนของผลไม้ไทย ทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย อีกทั้งช่วยลดความแออัดจากการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนในเส้นทางเดิมด้วย
“โอกาสดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว ที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2564 นี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการค้าสินค้าเกษตรไทยไปยังจีน เนื่องจากที่ผ่านมา จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญอันดับที่ 1 ของไทย”
โดยปี 2563 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน 314,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่าส่งออก 281,577 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปจีน ได้แก่ ยางธรรมชาติ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ/สัตว์บก ข้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนมายังไทย 53,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่าส่งออก 52,944 ล้านบาท
ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากจีนมายังไทย ได้แก่ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ ผักและผลิตภัณฑ์ พืชอาหาร และน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีนอย่างเต็มรูปแบบในระยะยาว จะเป็นโอกาสที่ดีของไทยทำให้มีทางเลือกการขนส่งสินค้าไปจีนได้มากขึ้นและคาดว่าจะทำให้การส่งออก-นำเข้าของทั้งลาวและจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
“เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบริเวณด่านพรมแดน ซึ่งทำให้การผ่านแดนใช้เวลานานส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย ข้อตกลงนี้จะเป็นสิ่งที่ไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก และผู้ประกอบการมีทางเลือกช่องทางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเส้นทางนี้น่าจะเป็นช่องทางที่ต้นทุนต่ำที่สุด หากเทียบกับทางเรือ ทางอากาศ มากไปกว่านั้นเร็ว ๆ นี้ เส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวจะเป็นโอกาสเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรระหว่างกันได้อีกมากด้วย” นายฉันทานนท์กล่าว