นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผย ว่าไตรมาสที่4 ของปีนี้ หรืออีก 3 เดือนที่เหลือ ถ้ามองฝั่งของการส่งออกสิ่งทองและเครื่องนุ่งห่มไทย มีความเป็นไปได้จะเติบโตอีก 10% ในสภาวะที่เราเจอช่วงสูงสุดมาแล้ว ที่โรงงานหลายคลัสเตอร์ติดโควิดในอุตสาหกรรหลัก ตอนนี้เปิดปกติ มีการควบคุม มีการใช้ระบบ มีการตรวจ ATK ต่างๆ ผ่านมาหมดแล้ว
“ฉะนั้นในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ตัวเลขการผลิต รวมถึงความต้องการสินค้าของโลกที่ยังมีความต้องการสูงอยู่น่าจะส่งออกได้ค่อนข้างดี เพราะ 2.3 แสนล้านบาทในปี 2562 มีสิทธิจะถึง 2.5 แสนล้านบาท ถ้าเพิ่ม 10% จะเป็นนิวไฮตัวใหม่ ที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลับมาส่งออกได้มากกว่าในปีก่อนโควิด“นายยุทธยากล่าว
ทั้งนี้ปัจจุบันมีหลายสภาวะเป็นปัจจัยประกอบ เทียบจากปีที่แล้วที่ดร็อปลงไป เพราะปีนี้มีความต้องการสูง แต่ปีหน้าจะเป็นปีที่ชาเลนจ์(ท้าทาย) มากๆ ถ้าพูดช่วง 3 เดือนนี้ หลายๆอุตสาหกรรมน่าจะยังเอ็นจอยกับการส่งออกอยู่ ต่อข้อถามเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือ ที่ยังมีปัญหา จะเจออีกอย่างน้อย 4-6 เดือน แต่ว่าจะค่อยๆดีขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะช่วงพีคสุดคิดว่าผ่านมาแล้ว จากนี้จะค่อยๆดีขึ้นในการส่งออก
จากการระบาดโควิด ปีที่แล้วตัวเลขการส่งออกหมวดสินค้าไลฟ์สไตล์ติดลบกว่า 10% เครื่องนุ่งห่มกว่า 16% สิ่งทอเกือบ 20% ปีที่แล้วคนทั้งโลกไม่ซื้อเสื้อผ้า ซื้อกันน้อยมาก เพราะแพนิกโควิด ดร็อปไป 10-20% แต่ปีนี้ตัวเลขกลับมากว่า 10% แล้ว แต่ยังไม่เท่าก่อนปีโควิด ปีนี้ผ่านไปครึ่งปีตัวเลขโควิดทั่วโลกดีขึ้น แต่ยังอยู่ในสถานะที่ต้องเฝ้าระวัง คาดว่ากว่าจะกลับมาใกล้เคียงปีก่อนโควิดน่าจะเป็นไตรมาสสองของปีหน้า
ดังนั้น สิ้นปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10-12% จากที่เคยติดลบ 16-18% เรียกว่าดีขึ้น แต่ว่าอานิสงส์ของการกลับมามีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงในเชิงของธุรกิจค่อนข้างมาก ผู้ผลิตไทยเคยเวิร์คกับลูกค้าล่วงหน้า 6 เดือน ตอนนี้เหลือ 3-4 เดือน
“ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว เคยบินหากัน ตอนนี้ทุกอย่างต้องออนไลน์ ที่บอกว่าเป็นนิวนอร์มอล ตอนนี้กลายเป็น นิว นิว นอร์มอล ไปแล้ว เป็นปกติที่ต้องทำแบบนี้ ทั้งปัจจุบันและอนาคต ต้องทำต้นทุนถูกลง เพราะต้นทุนการเดินทางลดลง สิ่งที่เราคิดว่าไม่สามารถทำได้เร็วขึ้น สามารถทำได้เร็วขึ้นได้จริง โอเปอเรชั่นเร็วขึ้น การปรับตัวเหล่านี้ผมว่าเอามาใช้ ทำให้สามารถแข่งขันในอนาคตได้ด้วย แต่จริงๆยังมีอีกหลายปัจจัยที่เอกชนต้องปรับตัว และภาครัฐต้องช่วย” นายยุทธนากล่าว