น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์วิกฤติสาธารณภัยจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงเวลานี้ ว่า ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือ MCATT จาก รพ.สวนสราญรมย์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 โดยมีการทำงานร่วมกับทีม MCATT ในพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทีมสุขภาพฝ่ายกาย ในการประเมินผลกระทบรวมทั้งดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัย เน้นที่การเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายจากอุทกภัย โดยมีการดำเนินงานในพื้นที่ จ.นราธิวาส ณ ศูนย์พักพิง ร.ร.เทศบาล 4 / ศพด.กีแยมัส และในพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง สถานการณ์น้ำยังวิกฤติทำให้ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ จะมีการวางแผนเตรียมความพร้อมร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย ต่อไป
จากการลงพื้นที่เพื่อคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตผู้ประสบภัย ณ ศูนย์พักพิง จ.นราธิวาส จำนวน 309 คน จาก 69 ครัวเรือน พบ มีภาวะเครียดสูง 12 คน ซึ่งมีภาวะ เครียดจากเหตุน้ำท่วม 4 คน มีภาวะซึมเศร้า 2คน มีภาวะซึมเศร้าร่วมกับมีความคิดฆ่าตัวตาย 1คน มีปัญหาโรคจิตเวชเดิม 5 คน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยทั้งหมด ทีมจะติดตามดูแลเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่องจนกลับสู่ภาวะปกติ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้สภาพจิตใจประชาชนส่วนใหญ่ อยู่ในสภาวะเครียด ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก มีอาการเครียดจากภาวะน้ำท่วม กลุ่มที่ 2 มีอาการเครียดจากปัญหาผลกระทบต่อมาจากน้ำท่วม และ กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่คาดว่าน้ำกำลังไปถึงพื้นที่ ปฏิกิริยาความเครียดที่เกิด จะพบอารมณ์เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ ร่วมกับอาการทางกายได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ โดยแต่ละคนจะมีระดับความเครียดแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับต้นทุนชีวิตเดิมหรือบุคลิกภาพเดิมเป็นอย่างไร และเป็นคนที่สามารถปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด หากเดิมเป็นคนไม่ค่อยเครียดและปรับตัวได้ง่ายก็มักจะไม่เกิดภาวะเครียดรุนแรง รวมทั้ง สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น และการเตรียมตัวในการป้องกัน ที่หากมีการเตรียมตัวป้องกันดี เกิดความเสียหายน้อย ความเครียดก็จะน้อยตามไปด้วย
ข้อแนะนำเพื่อจัดการความเครียดที่เกิดขึ้น สำหรับกลุ่มแรกที่น้ำกำลังท่วม หลายคนอาจเตรียมพร้อมรับมือได้ เนื่องจากมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว ความเครียดอาจไม่มาก แนะนำให้ จัดการกับปัญหาร่วมกัน หากิจกรรมทำตามปกติ พูดคุยกับคนใกล้ชิดหรือเพื่อน สวดมนต์ไหว้พระ เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ทำได้ในพื้นที่จำกัด เช่น การยืดเหยียด บริหารร่างกาย ๆ ก้ม ๆ เงย ๆ หรือการเต้นแอโรบิกเป็นต้น รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้รับความช่วยเหลือเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ เอาใจใส่ช่วยเหลือกันและกันในชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการลดความเครียด และช่วยให้เผชิญภาวะวิกฤตได้ดีขึ้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เช่น หากอยู่ในศูนย์อพยพก็ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญอย่าใช้สุรายาเสพติดมาเป็นทางออกของการจัดการความเครียด สำหรับ กลุ่มที่ 2 ที่เครียดหลังจากผลกระทบของน้ำ จะเห็นความเสียหาย เกิดความเครียดสูง ควรตั้งสติร่วมคิดวางแผนแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน เรียงลำดับก่อนและหลัง เริ่มจากง่ายไปหายาก ที่สำคัญ อย่าหมดกำลังใจ มีสติ ยิ้มสู้กับปัญหา และกลุ่มที่ กำลังรอคอยน้ำท่วม การติดตามข่าวสารในแต่ละวัน ตลอดจนข่าวลือต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนก ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลสูงได้ แนะให้ ลดการสื่อสารหลายช่องทาง ให้ติดตามสถานการณ์และสอบถามข้อมูลจากแหล่งข่าวสำคัญของท้องถิ่นหรือของทางราชการ อาทิ สายด่วนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 สายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 ถ้ามีความเครียดไม่สบายใจ แนะนำการปรึกษาแก้ปัญหาความเครียด ความทุกข์ใจต่างๆ ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว