นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จัดตั้งสหกรณ์และกลุ่มเตรียมสหกรณ์ขึ้นในพื้นที่โครงการหลวง ระยะแรกเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ 3 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 2 แห่ง กลุ่มเตรียมการสหกรณ์ 10 แห่ง กลุ่มอาชีพ 1 แห่ง สมาชิก 659 คน มีทุนดำเนินงานแรกเริ่ม 6.7 ล้านบาท ปัจจุบันสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงได้ขยายผลไปในหลายพื้นที่ เพื่อใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ให้กับราษฎรบนพื้นที่สูงใน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี ลำปาง และเพชรบูรณ์ มีสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงจำนวน 57 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 2 แห่ง กลุ่มเตรียมการสหกรณ์ 4 แห่ง จำนวนสมาชิกรวม 10,926 ครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวมกว่า 307.751 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ให้เป็นองค์กรของชุมชนและเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างสหกรณ์กับมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมทั้งได้สนับสนุนอุปกรณ์การผลิตและการตลาด และเงินทุนต่าง ๆ ให้กับสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงได้นำไปดำเนินธุรกิจและรับซื้อผลผลิตการเกษตรของสมาชิก ซึ่งในแต่ละปีจะมีการจัดประกวดสหกรณ์และบุคคลดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงและสมาชิก รวมถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง โดยหลักเกณฑ์พิจารณาจะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดี ดูแลส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกได้ประสบผลสำเร็จ ตลอดจนเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของสมาชิกสหกรณ์ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต ให้มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความเพียร รอบคอบ อดทน ปฏิบัติตนโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างพอเพียง
สำหรับในปี 2564 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้คัดเลือกสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการบริหารจัดการสหกรณ์ แบ่งเป็น สหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลสหกรณ์ดีเด่น อันดับ 1 ได้แก่ สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ จำกัด จังหวัดตาก ได้รับโล่และเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับโล่และเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 3 ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับโล่และเงินรางวัล 20,000 บาท
นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงดีเด่น จำนวน 16 ราย เป็นสมาชิกจากสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงบ้านอมพาย จำกัด สมาชิกสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จำกัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น จำกัด สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงห้วยริน จำกัด สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงห้วยน้ำกืนปางมะกาด จำกัด จังหวัดเชียงราย สมาชิกสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ จำกัด สมาชิกสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง จำกัด จังหวัดตาก สมาชิกสหกรณ์การเกษตรพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จำกัด จังหวัดน่าน สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านปางม่วง จำกัด จังหวัดลำปาง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม จำกัด จังหวัดลำพูน สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่ปูนหลวง จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงหมอกจ๋าม จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมสหกรณ์ดีเด่น จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางสาวจันทราวดี อารีศรีสม นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา 5 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ซึ่งสมาชิกสหกรณ์และบุคคลดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวง ที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าว จะได้รับเงินรางวัลพร้อมโล่เกียรติคุณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการขับเคลื่อนงานสหกรณ์ต่อไป