กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้ธีม “Towards A Low-Carbon Society” ใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ นโยบายและการวางแผนด้านพลังงาน เทคโนโลยีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ พลังงานเพื่อการคมนาคมขนส่งเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ และ เมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อผลักดันและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงาน และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
นายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “จากการมุ่งเน้นบริหารเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อน Energy 4.0 มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้ การจัดงาน “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560 หรือ SETA 2017” นับเป็นงานประชุมและนิทรรศการนานาชาติ ที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย การนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน อาทิ ระบบการสำรองพลังงาน การพัฒนา Smart City, Smart Grid ขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตาม RoadMap
รศ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ในงาน SETA 2017 ปีนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการจัดแสดงนิทรรศการที่สะท้อนความมุ่งมั่นคิดค้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน อีกทั้งกำกับ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดี จัดสรรและบริหารทรัพยากรของกระทรวงให้เกิดความประหยัด คุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย เสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมทั้งการบริหารจัดการด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยแบ่งเป็นงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี กำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และด้านการสนับสนุนการกำกับดูแล ความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู”
คุณกอบกุล โมทนา ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “กระทรวงคมนาคม มีการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ ความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ ตามแผนแม่บท ปี 2558 2565 ภายใต้กรอบ Thailand 4.0 และ Energy 4.0 ครอบคลุมถึงโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง และนวัตกรรมรถโดยสารและรถสินค้า นอกจากนี้ การขับเคลื่อนของกระทรวงพลังงาน ในการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน กระทรวงคมนาคมเองก็ต้องดำเนินงานให้สอดคล้องทั้งด้านนโยบายและการบริหารจัดการ”
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กฟผ. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้สนับสนุนหลัก” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้มีโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้หารือเกี่ยวกับนโยบาย ด้านพลังงานที่ยั่งยืนและกลยุทธ์กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความท้าทายในอนาคตในการพิชิตเป้าหมายในปี 2020 และการพัฒนาด้านพาวเวอร์กริดด้วย การจัดงานในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจด้านพลังงาน ในหลากหลายแง่มุม อาทิ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในระยะยาว และรักษาระดับราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเชิงพาณิชย์ มาใช้ ทำให้สามารถควบคุมมลภาวะได้ในระดับสากล และดีกว่ามาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดค่อนข้างมาก และจากเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าแบบ Ultra Super Critical ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในอดีต