นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ รองโฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า มีการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งอาจพัฒนาเป็นพายุลูกใหม่ “หมาเหล่า”ทำให้มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2564 จึงมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งพร่องน้ำ ระบายน้ำเขื่อนใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อม
โดยจากการติดตามสถานการณ์น้ำภาพรวมขณะนี้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค รวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 59,920 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 73% ของความจุอ่าง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 52,859 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 74% ของความจุอ่าง โดยพบว่ามีเขื่อน อ่างเก็บน้ำศักยภาพหมายถึงจุเกินความจุ 80% รองรับน้ำเต็มที่แล้ว17 แห่งที่มีปริมาณน้ำเกินกว่าระดับกักเก็บต้องเฝ้าระวัง
“วันนี้คณะทำงานส่วนหน้า จะบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำท่าจีนเพื่อเร่งการระบายน้ำลงทะเลให้มากที่สุด โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะระบายน้ำให้อยู่ในอัตรา 570 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้ด้านท้ายเขื่อนรับผลกระทบน้อยที่สุด และเขื่อนอุบลรัตน์ประสาน กฟผ.ใกล้ชิด ช่วงวันที่ 28-31 ตุลาคมนี้ มีเเนวโน้มการเกิดพายุลูกใหม่ ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์รายงานว่า จะมีน้ำทะเลหนุน 23-27 ตุลาคม ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด”
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ 15 จังหวัดที่ยังประสบอุทกภัย ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ภาคกลาง บริเวณ จ.ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ปราจีนบุรี และสระแก้ว
สำหรับสถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง แต่ยังเฝ้าระวังน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ซึ่งกรมชลฯจะผันน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยา อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 30-50 ซม. และฝนที่ตกหนักในพื้นที่เพิ่มขึ้น มีน้ำหลากจากคลองจะร้า จ.กาญจนบุรี ไหลหลากในอัตรา 120-150 ลบ.ม./วินาที ส่งผลกระทบพื้นที่ทุ่งโพธิ์พระยา อ.อู่ทอง และ อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี น้ำเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีความจุเต็มศักยภาพ 17 แห่ง ประกอบด้วย บึงบอระเพ็ด หนองหารกุมภวาปี แม่มอก แควน้อยบำรุงแดน ทับเสลา ป่าสักชลสิทธิ์ กระเสียว อุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำนางรอง ลำแชะ ขุนด่านปราการชล นฤบดินทรจินดา และหนองปลาไหล
รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์อุทกภัยปี 2564 ที่ผ่านมา พบประมาณ 6 ลูก ได้แก่ 1.พายุไซโคลนยาอาส ระหว่าง 25-29 พฤษภาคม 2564 2.พายุโคะงุมะ ระหว่าง 12-13 มิถุนายน 2564 3.พายุโซนร้อนโกนเซิน ระหว่าง 9-10 กันยายน 2564 4.พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ระหว่าง 23-30 กันยายน 2564 5.พายุโซนร้อนไลออนร็อก ระหว่าง 10-12 ตุลาคม 2564
6.พายุโซนร้อนคมปาซุ 13-15 ตุลาคม 2564 และ 7.ว่าที่พายุหมาเหล่า ระหว่าง 29-31 ตุลาคม 2564 สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตร ร่องมรสุมกำลังแรงดังกล่าวมีสาเหตุจากปรากฏการณ์ลานิญา