นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าพืชกระท่อมได้รับการปลดล็อกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา และให้ไปกำกับดูแลภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ใบกระท่อม ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ไม่ต้องมายื่นขออนุญาตกับ อย. น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตผลิตตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 กรณีนำกระท่อมมาปรุงประกอบอาหาร ขณะนี้ อย. อยู่ระหว่างจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ …) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย (ลำดับที่ 52 กระท่อม) เพื่อให้การใช้ส่วนของพืชกระท่อมและสารสกัด สามารถเป็นส่วนประกอบในอาหารได้ และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อย. จึงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยของอาหาร และส่งมอบฉลากให้ อย.ตรวจอนุมัติก่อนนำไปใช้ ตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel food)
กระท่อมเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์และสรรพคุณที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจก็คือ ร่างกายของคนเราไม่สามารถย่อยก้านและใบกระท่อมได้ การบริโภคก้านใบกระท่อมในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ที่เรียกว่า “ภาวะถุงท่อม” ดังนั้น ขอให้บริโภคด้วยความระมัดระวัง และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีภาวะผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์ รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด