ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การต้อนรับ ดร.สาธิต กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ของประเทศ และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านชันสูตรโรค อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัคซีน และสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่ผ่านมาได้สนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ
โดยในปีงบประมาณ 2565 นี้ได้มอบนโยบายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินงานเสริมสร้างศักยภาพวิทยาศาสตร์การแพทย์ของภาครัฐ และภาคีเครือข่ายให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยมุ่งเน้น 2 ประเด็นหลัก คือ สนับสนุนการวินิจฉัยและรักษาโรค อาทิ การเพิ่มศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด 19 รองรับการเปิดประเทศ เฝ้าระวังกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ เพื่อจัดเก็บเชื้อโรค เชื้ออันตรายสูง ควบคุมคุณภาพวัคซีนโควิด 19 รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพกรณีเกิดปัญหาอาการไม่พึงประสงค์หรือมีความสงสัยในคุณภาพของวัคซีน สนับสนุนการวิจัยพัฒนาถอดรหัสพันธุกรรมในมนุษย์ พัฒนาการตรวจโรคที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคเรื้อรัง หรือโรคที่หายากและมีความซับซ้อน เพื่อสนับสนุนการแพทย์แม่นยำ
ประเด็นที่ 2 ที่มุ่งเน้นคือ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข เช่น การพัฒนากัญชาทางการแพทย์และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพืชกัญชา การขยายการให้บริการเจาะเลือดที่หน่วยบริการเจาะเลือดนอกโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม ลดความแออัดในโรงพยาบาล และการเพิ่มศักยภาพ อสม. ให้เป็น “อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน” ให้สามารถคัดกรองและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่ได้ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงในการสอนการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK สำหรับประชาชน
ดร.สาธิต กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบสารสนเทศการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่เรียกว่าระบบ Co-Lab ซึ่งจะมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในที่เดียวกันให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกลางปีหน้า ให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ