ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่สารจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
"ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในจังหวัดเชียงใหม่มีความรุนแรงมากขึ้น พบว่ามีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 300 ราย ถึง 400 ราย และพบ Cluster ใหม่ทุกวัน ทั้งนี้ ตามสถิติทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่พบใหม่จะมีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยทั้งหมดจะมีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง โดยในส่วนนี้มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง (ร้อยละ 5) ต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก ICU
แม้ขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำระบบ Community Isolation รวมถึงโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มทำระบบ Home Isolation แต่ระบบสาธารณสุขของจังหวัดเชียงใหม่ มีเพียง 2 โรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยหนักสีแดง คือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ จากสถานการณ์ในช่วงตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 6,000 ราย ทำให้มีผู้ป่วยหนักใน ICU ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทั้ง ICU ตึกนิมมานเหมินทร์ ตึก ICU โรงพยาบาลประสาท และ Cohort Ward โรงพยาบาลสงฆ์แห่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบเต็มศักยภาพ
บุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ทุกท่าน รวมถึงบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้เป็นอย่างยิ่งและกำลังทำงานกันอย่างเต็มศักยภาพ แต่ขณะนี้จากข้อมูลทางการแพทย์ การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและรีบด่วน ขอให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ทราบข้อมูล และตระหนักถึงสภาวะของโรค Covid-19 ในเชียงใหม่ว่า การระบาดของโรค Covid-19 ขณะนี้มีความรุนแรงระดับสูง และการแพร่กระจายการติดเชื้อส่วนใหญ่ เกิดในผู้ที่ไม่มีอาการ และเกิดในครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก
ดังนั้น การปฏิบัติตัวต่างๆ ที่ทางหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศได้แนะนำ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงนี้ และในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะมีการเปิดรับการท่องเที่ยว ข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญคือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีอัตราการติดเชื้อ และหากติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมากแต่ขณะนี้อัตราการฉีดวัคซีนของเชียงใหม่มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญชวนทุกท่านมารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด มีรายงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า วัคซีนสูตรไขว้ตามนโยบายของประเทศมีประสิทธิภาพสูง รวมถึงชาวเชียงใหม่หวังว่าจะได้การจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมมากขึ้นเหมือนพื้นที่อื่น เพื่อเพิ่มร้อยละของผู้รับการฉีดวัคซีน โดยจะมีผลให้ผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยอาการหนักลดลง ซึ่งจะทำให้จังหวัดเชียงใหม่ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณ ข้อแนะนำและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการรักษาผู้ป่วย Covid-19 ในกรุงเทพมหานครช่วงที่ผ่านมาจากผู้บริหารโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงชุด Home Isolation ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอให้มั่นใจว่าบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนชาวเชียงใหม่ อย่างเต็มศักยภาพ แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน"
ขณะที่วันเดียวกันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 403 ราย อยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลทุกประเภท รวมทั้ง Community Isolation และ Home Isolation ทั้งสิ้น 3,813 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยอาการน้อยหรือสีเขียว 3,144 ราย เป็นร้อยละ 85 ของจำนวนเตียงที่รองรับได้ 3,174 เตียง ผู้ป่วยอาการปานกลางหรือสีเหลือง จำนวน 577 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 ของจำนวนเตียงที่รองรับได้ 595 เตียง และผู้ป่วยอาการหนักหรือสีแดง จำนวน 92 ราย ซึ่งเตียงเต็มจำนวนที่รองรับได้แล้ว
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้โรงเรียน สถาบันการศึกษา ทุกแห่งในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 ชะลอการเปิดการเรียนการสอนแบบ On site ในห้วงระยะวันที่ 1-14 พฤศจิกายน 2564
นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับที่ 41 เรื่อง มาตรการใช้อาคารเรียนหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า
ด้วยขณะนี้ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า “โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท/ทุกระดับ/ทุกสังกัด ที่ได้รับอนุญาตให้จัดการเรียนการสอนจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ในเขตพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาดังกล่าว พิจารณาชะลอการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ (On site) โดยให้พิจารณาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นแทน ตามมาตรการหรือแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1-14 พฤศจิกายน 2564”
ควบคุมการรวมกลุ่มจัดกิจกรรม
นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ยังออกมาตรการให้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มได้ไม่เกิน 100 คน ส่วนพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 4 อำเภอ ที่เป็นพื้นที่ตำบลสีฟ้าครบทุกตำบลทั้งอำเภอ ตามประกาศของ ศปก.อำเภอ สามารถจัดงานตามประเพณีนิยมหรือกิจกรรมใดๆ ได้ไม่เกิน 500 คน
นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 226/2564 เรื่อง มาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก โดยกำหนดให้ทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ยกเว้น เขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 4 อำเภอ ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง สามารถจัดงานตามประเพณีนิยมหรือกิจกรรมใดๆ ได้ โดยให้จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 100 คน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ให้ยื่นเหตุผลความจำเป็นต่อผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาอนุญาต
ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 4 อำเภอ ให้มีมาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก โดยในเขตพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ตำบลสีฟ้าครบทุกตำบลทั้งอำเภอ ตามประกาศของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อำเภอ) สามารถจัดงานตามประเพณีนิยมหรือกิจกรรมใดๆ ได้ โดยให้จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 500 คน
ส่วนอำเภอที่มีพื้นที่ตำบลสีฟ้าไม่ครบทุกตำบล เฉพาะในเขตพื้นที่ตำบลสีฟ้าตามประกาศของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ ให้จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 250 คน สำหรับเขตพื้นที่ตำบลที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 100 คน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ให้ยื่นเหตุผลความจำเป็นต่อผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาอนุญาต
ทั้งนี้ ขอให้การจัดกิจกรรมใช้เวลาให้น้อยที่สุด และงดการรับประทานอาหารร่วมกันในการจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วนการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของทุกศาสนา ณ ศาสนสถาน ให้ถือปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของผู้ปกครองของแต่ละศาสนา และขอให้ให้ผู้จัดกิจกรรม เจ้าของสถานที่ หรือผู้เข้าร่วมกิจกรรม ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม และส่งให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ที่จัดกิจกรรมทันทีที่เสร็จกิจกรรม