ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
เอกชนขานรับเวทีศอ.บต.ร่วมแก้ศก.
06 พ.ย. 2564

ศอ.บต.เปิดเวทีถก “ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้”​ ร่วมแลกเปลี่ยน​ถอดบทเรียนสู่การพัฒนา​​

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดสัมมนา “ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้”​ มีวิทยากร ประกอบด้วย นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต., นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้า จังหวัดสงขลา, นายศิริชัย ปิติเตริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี, นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และ นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมนำสัมมนาโดย นายสมชาย สามารถ บรรณาธิการศูนย์ภาคใต้เครือเนชั่น และ นายชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ รองประธานสภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา ถ่ายทอดสดทางเพจศ.อบต. และสงขลาโฟกัส วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 - 16.00 น.

นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม กล่าวว่า ศอ.บต. เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงและบูรณาการของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงภาคท้องถิ่น เป็นบทบาทตามพ.ร.บ.ของศอ.บต. ปี 2553 โดยทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนชายแดนภาคใต้ไปสู่สันติสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรม ล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้จัดทุกๆ 3 เดทอนพบว่า ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอยู่ระดับขึ้น A52 ประชาชนได้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหลักในขณะนี้ คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รองลงมาคือ ปัญหาเรื่องปากท้อง และปัญหาที่ต้องการให้แก้ไขเร่งด้วยคือ ค่าครองชีพ

ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาล ทำให้กิจการบางส่วนกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหนึ่ง ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในประจำวันอย่างปกติมากขึ้น และไตรมาสนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรของชายแดนใต้ทั้ง ทุเรียน มังคุด ลองกอง ช่วยบรรเทารายได้ของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

โดย นาวาเอก จักรพงษ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพพื้นที่ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ศอ.บต.ได้วางแผนการดำเนินร่วมกับกระทรวงกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลักๆ คือเรื่องเศรษฐกิจภาคเกษตร ตลาดจะต้องนำการผลิต ส่วนที่สอง จะต้องมีวิชาการและงานวิจัยรองรับ ซึ่งการขับเคลื่อนงานศอ.บต.ในระยะเร่งด่วนมุ่งเน้นเศรษฐกิจฐานราก ไปเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลมุ่งสู่เมืองต้นแบบใน 4 เมือง

ขณะที่ธุรกิจฐานรากครัวเรือนชุมชนมุ่งเน้นภาคเกษตรจะแบ่งตามลักษณะภูมิศาสตร์ ทั้งชายทะเล พื้นที่ราบ รวมถึงการปลูกผลผลิตทางการเกษตรส่งเสริมการปลูกทุเรียน มังคุด ลองกอง และในครัวเรือน ชุมชนจะเน้นเรื่องปลูกไผ่เศรษฐกิจเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

ส่วนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะขับเคลื่อนเมืองปูทะเลโลกชายแดนใต้ จะฟื้นฟูนิคมอาหารฮาลาลที่ปานาเระกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกันชายแดนใต้มีเสน่ห์เรื่องผลไม้จะขับเคลื่อนต่อไป โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จะเริ่มเมืองหนองจิกอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่นเดียวกับโกลก เมืองการค้าชายแดน 9 ด่าน ตั้งแต่สตูล-ตากใบ ซึ่งขณะนี้ ศอ.บต.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ
ส่วนอีกเมืองคือ ท่องเที่ยวที่เบตงมาติดสถานการณ์โควิด-19 อย่างเดียว เพราะก่อนหน้านี้ มีคนมาเที่ยวอัยเยอร์เวง 2 แสนคน ตรงนี้จะขับเคลื่อนต่อ โดยเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เข้ามา โดยมติที่สำคัญ 1. การแก้ปัญหาประมงปัตตานี 2. ไม้เศรษฐกิจ 58 ชนิด จะขับเคลื่อนต่อประมาณ 2 แสนไร่ในกรอบ 5 ปี ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะไม้โตเร็ว 3. คือ การวิ่งภายในภูมิประเทศในปี 2565 4. การแก้ไขปัญหาความยากจน จะนำร่องให้ราชการดูแลคนจนก่อนเพื่อแก้ปัญหาให้คนจนหมดไป 5. ปัญหาน้ำท่วมทุกปีที่ปากน้ำเทพา ก็เร่งแก้ปัญหาในตรงนี้ให้ดีขึ้น 6. ด่านการค้าชายแดนเปิดประเทศ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ด่านที่ต้องการขับเคลื่อนให้เร็วที่สุดคือ ด่านสุไหงโก-ลก และสะเดา

อย่างไรก็ตาม นาวาเอก จักรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ใบยางร่วง เป็นปัญหาที่ได้รับอนุมัติเงินจากการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) มาแก้ไขอย่างเร่งด่วน สำหรับแรงงานไทยที่กลับมาจากมาเลเซียประมาณ 20,000 คน ขณะนี้ได้จัดหางานให้ทำได้ประมาณ 10,000 คน สุดท้ายคือนักศึกษาไทยจากต่างประเทศที่ไปเรียนมา 27 ประเทศ ประมาณหนึ่งหมื่นคนต้องกลับมา ศอ.บต.ก็เข้าไปช่วยเหลือดูแลในส่วนนี้

ด้านนายศิริชัย ปิติเตริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องยอมรับว่าแตกต่าง จากพื้นที่อื่น เราเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางด้านเศรษฐกิจมาตลอด ยังต้องได้รับการช่วยเหลื่อจากภาครัฐโดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 เข้ามา อยากให้ภาครัฐมองว่าการเข้ามาดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงสงขลาต้องมีความแตกต่างในพื้นที่อื่น

“แต่ละจังหวัดมีปัญหาต่างกัน สงขลามีโรงงานอุตสาหกรรม มีการท่องเที่ยว ซึ่งกระทบไปหมด ยะลามีเบตง นราธิวาสมีสุไหงโก-ลก ปัตตานีมาจากอุตสาหกรรม ประมง และกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบระยะยาว เวลานี้โควิด-19 ค่อยๆ ดีขึ้น แต่ชายแดนใต้ยังติดอันดับสูง ถ้าจะกลับมากอบกู้ตรงนี้ในแต่ละจังหวัดที่มีฐานเดิมต้องดึงตรงนั้นกลับมา หลังจากนั้นก็หาของใหม่อาจจะต้องใช้ระยะเวลา สิ่งที่ต้องมองในอนาคตคือ นโยบายการเงินการคลัง ต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากที่อื่น ขณะเดียวกัน ก็ต้องหาภาคอุตสาหกรรมอื่นมาทดแทน ทั้งนี้ทางนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ อยากให้นโยบายส่งผลทางด้านเศรษฐกิจลงมาถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย จึงอยากฝากถึงศอ.บต.และประธานหอการค้าสงขลาด้วย” นายศิริชัย กล่าว

ซึ่ง นายศิริชัย ยังกล่าวต่อว่า การที่เราจะฟื้นเศรษฐกิจเมื่อโควิด-19 คลี่คลายยังยืนยันว่าปัตตานียังต้องการประมงเข้ามา รอสงขลาที่จะส่งนักท่องเที่ยวเมื่อเปิดเมืองแล้วมายังสามจังหวัดชายแดนใต้และขอบคุณศอ.บต.ที่ทำหลายๆ โครงการขึ้นมา อย่างเช่น ทุเรียน เป็นต้นเพื่อให้เศรษฐกิจชายแดนใต้กลับคืนมาให้ได้

นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้า จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตนได้มองข้ามสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว การแก้ไขปัญหาต่างๆก็ได้ทำการแก้ไขไปบ้างแล้ว และไม่กี่วันทุกอย่างคงเข้าสู่สภาวะปกติ ถ้าเรามองในการขับเคลื่อน 5 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา สตูล นราธิวาส ปัตตานี ยะลา เห็นด้วยกับประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี คือจังหวัดปัตตานีต้องเร่งอุตสาหกรรมอาหารผู้ประกอบการประสบปัญหากับประมงมาหลายปี เป็นความโชคดีของสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้ง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่ผลกระทบเรื่องโควิด-19 เมื่อเทียบกับสงขลาถือว่าน้อยมาก เพราะภาคที่กระทบมากที่สุดคือ ภาคท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสามจังหวัดชายแดนใต้ยังน้อย ถ้าเทียบกับสงขลาคือมหาศาล แต่สงขลาโชคดีว่าเรามีเครื่องยนต์หลายตัว

ดังนั้นในการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ 1. ระบบราชการต้องการกำลังคุณภาพสูง 2. การลงทุนเรื่องโลจิสติกส์ 3. การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 4. สินค้าการเกษตรและการเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 5. แก้ปัญหาการก่อการร้าย ยกเลิกพื้นที่สีแดงสงขลา 6. ภาครัฐและศอ.บต.ผลักดันแผนอย่างจริงจัง 7. ลดความยากจน มีความคุ้มครองสังคม และ 8. SMEs เข็มแข็งศักยภาพสูงแข่งขันได้

“ถ้ามองในขณะนี้ศอ.บต.ได้ทำงานไปเยอะมากทั้งด้านการศึกษา ทางด้านอาชีพ การสร้างงาน ถ้าได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง น่าจะไม่มีคนจนเหลืออยู่ใน 5 จังหวัด ถ้าอีก 3 ปีข้างหน้า คนจนยังเหลืออยู่
ในสามจังหวัด ผมคิดว่าการขับเคลื่อนไม่ได้ผล” นายธนวัตน์ กล่าว

ประธานหอการค้าสงขลา กล่าวด้วยว่า ถ้าจะสร้างการตลาดต้องมาคุยกับเอกชน โดยใน 5 จังหวัดชายแดนใต้มีผลผลิตการเกษตรคุณภาพสูง จะต้องเกิด อาหาร พืช สัตว์ ผลไม้ต้องมีคุณภาพสูง
ต่อมาคือ การยกระดับสินค้าและการแปรรูปต้องมีโรงงานแปรรูปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนสร้างงานสร้างอาชีพจะต้องจริงจัง
สุดท้ายคือ การท่องเที่ยวสามจังหวัดมีเสน่ห์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ทำอย่างไรก็ได้ให้คนในจังหวัดตัวเองมาเที่ยวก่อน

อีกทั้ง นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ภาคประชาสังคมลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านมาก หลายองค์กรปรับบทบาทของตัวเองมาทำอาหารเพื่อนำไปช่วยเหลือชาวบ้านที่กักตัว ปัญหาที่เจอกันจริงๆ คือการไม่ให้ข้อมูล ทำให้เราดูแลชุมชนค่อนข้างยาก

“ปัญหาต่อมาคือ ความไม่ไว้วางใจอดีตเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ แต่ปัจจุบันเริ่มไม่ไว้วางใจคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 จึงต้องความพยายามอธิบายในคนในพื้นที่ต่างๆ เข้าใจ อีกทั้ง ยังมีความไม่ไว้วางใจ กลุ่มคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน โดยที่ปานาเระ ไม่มีประเด็นคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมฮาลาล แต่กังวลใจเมื่อเป็นฮาลาลเขารับคนทำงานเฉพาะมุสลิมหรือไม่ ก็ได้อธิบายไปว่าพี่น้องพุทธเขาก็รับแต่ต้องทำตามกฎระเบียบ” นายรักชาติ กล่าว

เช่นเดียวกับ นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ที่กล่าวว่า ถ้าดูสถานการณ์โลกอาจจะมีระลอกที่ 5 เพราะเชื้อโรคปรับตัวตลอดเวลา ส่วนสถานการณ์ของสามจังหวัดชายแดนใต้ตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มลดลงแต่ยังวางใจไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าสาเหตุที่ลดลงเพราะว่าติดเชื้อกันจำนวนมากเลยมีภูมิคุ้มกันหมู่และบวกกับการฉีดวัคซีนที่ช่วยยับยั้ง ซึ่งปัจจุบันสามจังหวัดชายแดนใต้มีการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น น่าจะอยู่ระดับกลางๆ ของประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งภาคปกครองน่าจะเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหานี้ด้วย ได้ตั้งข้อสังเกตในพื้นที่ที่มีภาคปกครองที่ทำงานเข้มแข็ง จริงจัง เด็ดขาด การแพร่ระบาดจะดีขึ้นเร็วและควบคุมได้ และคิดว่าปกครองน่าจะมีบทบาทที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็อยากจะฝากให้ศอ.บต. ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการประสานงาน หลังจากนี้ ก็เป็นการฟื้นฟูทั้งร่างกายสภาพจิตใจ ถ้ามองเรื่องของโครงสร้าง หนึ่งคือ ราชการเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนสามจังหวัดชายแดนใต้ สองเอกชน สามการเมือง สี่ประชาสังคม และห้าคือ กลุ่มศาสนาจะมีบทบาทมากในพื้นที่

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...