นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ เมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้รายงานความก้าวหน้าการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในภาพรวมทั้งระบบ รวมทั้งศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการก่อสร้างทางด่วนในเส้นทางอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป
ปัจจุบัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ และได้รายงานผลการศึกษาเบื้องต้นและความคืบหน้าของการศึกษาให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รับทราบ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาฯ มีความก้าวหน้าของการศึกษาประมาณร้อยละ 75.05% (ตุลาคม 2564)
การศึกษาได้วิเคราะห์สภาพปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน ทางขึ้น-ลง และถนนระดับดินที่ต่อเนื่อง รวมทั้งพิจารณาถึงโครงข่ายทางพิเศษและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในอนาคต พบว่า ปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ มีลักษณะของปัญหาแบ่งได้ 5 ลักษณะ คือ 1) ปัญหาด้านความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ (Over Section Capacity) 2) ปัญหาจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วมและทางแยก (Weaving & Merging) 3) ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ (Off-Ramp Congestion) 4) ปัญหาการไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง (Over Toll Plaza Capacity) และ 5) ปัญหาจุดคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ (Bottleneck) โดยมีเส้นทางหลักที่มีปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม (9 candle)2.ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา และ3.ทางพิเศษฉลองรัช
โดยได้ศึกษาและกำหนดโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา วิเคราะห์ความเหมาะสม จัดลำดับความสำคัญ และจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมทั้งระบบ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน จำนวน 21 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2569) จำนวน 16 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป) จำนวน 5 โครงการ และ 2)โครงการทางพิเศษเพิ่มเติมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง จำนวน 11 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2569) จำนวน 5 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป) จำนวน 6 โครงการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เร่งรัดการดำเนินการศึกษาแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งระบบให้แล้วเสร็จและนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก และคณะรัฐมนตรีให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยจะต้องคำนึงด้วยว่าโครงการแต่ละโครงการตามผลการศึกษาจะต้องมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการดังนี้
1) ให้พิจารณาเรื่องแหล่งเงินในการพัฒนาโครงการแต่ละโครงการให้ชัดเจน เช่น การบริหารสัญญาของโครงการทางพิเศษเดิม การให้เอกชนร่วมลงทุน หรือการใช้แหล่งเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) และ 2) ให้พิจารณาเพิ่มเติมถึงปัจจัยด้านการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า เรือ และรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพรวมในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ