นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานพลาสติกค่อนข้างถี่ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานรีไซเคิลพลาสติก ผลิตเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก อาทิ
เพลิงไหม้รุนแรงบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ที่ซอยกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ไฟไหม้ บริษัท เอ็มสเทรด จำกัด เขตสายไหม กรุงเทพฯ และล่าสุดเหตุเพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลพลาสติกขนาดใหญ่บริษัท พลัสพรอสเพอร์ จำกัด จังหวัดระยอง
ข้อมูลสถิติของ คพ. ระหว่างปี 2560 – 2564 มีเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและแปรรูปพลาสติก จำนวน 24 ครั้ง โดยเฉพาะในปี 2564 เกิดเหตุมากที่สุดถึง 10 ครั้ง ส่วนใหญ่เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วจะมีการลุกลามอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบเป็นอันมาก เนื่องจากพลาสติกและสารเคมีตั้งต้นต่าง ๆ เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี สามารถติดไฟได้ง่าย ให้ความร้อนสูง ทำให้ยากแก่การควบคุมและดับเพลิง โดยเหตุเพลิงไหม้มีสาเหตุหลักๆ ได้แก่
1. การเสื่อมสภาพและชำรุดของเครื่องจักรที่มีอายุใช้งานมานานและขาดการบำรุงรักษา จนเป็นสาเหตุของความร้อนและประกายไฟ รวมทั้ง ต้นเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร
2. พลาสติก และสารเคมีที่ใช้ในการผลิต เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี หากลุกติดไฟแล้วจะลุกลามอย่างรวดเร็ว เช่น สไตรีน เพนเทน ก๊าซและน้ำมันเชื้อเพลิง พลาสติกประเภท PP PE HDPE PPE PVC ABS PS
3. กระบวนการผลิตมีการใช้ความร้อนในการแปรรูป เช่น การหลอมและขึ้นรูปพลาสติก ซึ่งมีความเสี่ยงจากการลุกติดไฟได้ในขณะปฏิบัติงาน
4. มีการจัดเก็บวัตถุดิบและสต็อกผลิตภัณฑ์ไว้ในบริเวณโรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของเพลิงไหม้มากยิ่งขึ้น
5. การขาดอุปกรณ์ในการดับเพลิง และการซักซ้อมในการเผชิญเหตุเพลิงไหม้ของเจ้าหน้าที่โรงงานและหน่วยงาน
6. ช่วงปี 2560 – 2563 มีการจดทะเบียนตั้งโรงงานพลาสติกในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศและมีการสต็อกเศษพลาสติกไว้ในโรงงานจำนวนมาก
ที่ผ่านมา คพ.ได้ตรวจสอบโรงงานพลาสติกที่มีลักษณะสุ่มเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนในพื้นที่ จำนวน 729 แห่ง มีโรงงานรีไซเคิลที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต จำนวนกว่า 200 แห่ง และมีการจัดการมลพิษอยู่ระดับพอใช้ – ดีมาก ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงงานและประเภทของพลาสติก
นายอรรถพล กล่าวว่า ต่อจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 – 16 เอ็กซเรย์โรงงานประกอบกิจการพลาสติกทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ซ้ำซ้อน ป้องกันการนำเข้าขยะพลาสติกที่ผิดกฎหมายจากต่างประเทศและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามนโยบายรัฐมนตรี ทส. (นายวราวุธ ศิลปอาชา) และยังได้เตรียมการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถอดบทเรียนเหตุเพลิงไหม้โรงงานพลาสติก กำหนดแนวทางและมาตรการในการตรวจสอบและกำกับดูแล เพื่อเป็นการป้องกันและลดความรุนแรงของผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สินและสุขภาพอนามัยของประชาชน
โดยในวันนี้ คพ. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโรงงานพลาสติกบริษัท เอส.เอส.อาร์.ที พลาสติก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ต.แพรกษา จ. สมุทรปราการ ตามข้อร้องเรียนเรื่องกลิ่นจากการหลอมพลาสติก โรงงานดังกล่าวรับพลาสติกชนิด PE จากภาคอุตสาหกรรมมาหลอมเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยโรงงานได้ปรับปรุงระบบบำบัดอากาศเรียบร้อยแล้วตามคำสั่งของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ และอยู่ในขั้นตอนการให้ข้อมูลของบริษัทเนื่องจากมีการฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องเสียค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้ หากพบการดำเนินงานอื่นที่ผิดกฎหมาย คพ. จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นายอรรถพล กล่าว