นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมสามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ซิโนฟาร์ม) จากกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ โดยมีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 14 มิ.ย. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เริ่มเปิดให้หน่วยบริการสามารถเปิดจองวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนเพื่อให้พนักงานไปบางส่วนแล้ว
ทางด้านกระทรวงแรงงานได้ประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มจากรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ซึ่งในปี 2564 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจรวมทั้งสิ้นจำนวน 261,464 คน โดยในจำนวนนี้มีรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาวัคซีนรวมทั้งสิ้น 40 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่แสดงความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 117,677 คน
สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายจะคำนวณจากราคาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวเลือก (ซิโนฟาร์ม) ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งในปี 2564 กำหนดไว้จำนวน 2 เข็ม คูณจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ประสงค์ขอรับวัคซีน 117,677 คน และในปี 2565-2568 จำนวน 2 เข็ม คูณจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 ทั้งหมด 261,464 คน จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 58 แห่ง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อผลักดันการเปิดประเทศ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความจำเป็น คุ้มค่า และประหยัด ซึ่งจะมีระบบการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อีกด้วย.