นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ว่า กรมการขนส่งทางบกได้เปิดให้ผู้ขับรถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ที่เข้าเงื่อนไข มีรายชื่อในฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ยืนยันตัวตนและตรวจสอบข้อมูล ที่ต้องตรวจข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบจากฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพิ่มเติม
นายธนกร กล่าวต่อว่า โดยขณะนี้ยอดลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 10,789 ราย แบ่งเป็นผู้ขับรแท็กซี่ จำนวน 5,921 ราย และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวน 4,868 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ตรวจสอบแล้วว่ามีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือประมาณ 7,017 ราย และรอผลการตรวจสอบประมาณ 3,772 ราย
นายธนกร กล่าวอีกว่า โดยกำหนดดำเนินการโอนเงินให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิรอบแรกในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนตามที่ได้ระบุไว้ในเอกสารการลงทะเบียน สำหรับผู้ขับรถแท็กซี่ในกรณีรถเช่าขับ กรมการขนส่งทางบกจะตรวจสอบข้อมูลจากผู้ให้เช่าก่อนพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขเป็นผู้มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือหรือไม่ และจะกำหนดวันสำหรับโอนรอบที่ 2 ต่อไป
นายธนกร กล่าวว่า สำหรับผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะและรถแท็กซี่ส่วนบุคคลที่ประกอบอาชีพใน 13 จังหวัด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 และฉบับที่ 28 (ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 10,000 บาทต่อคน
นายธนกร กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพใน 16 จังหวัด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 30 (กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง) จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาทต่อคน
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกรมการขนส่งทางบก ได้เร่งรัดดำเนินการให้รวดเร็วและทั่วถึงทุกกลุ่มอย่างเต็มที่