ปลัดฯสุทธิพงษ์ ปาฐกถาพิเศษ “บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างชุมชนและวัดอย่างไรให้มีความสุขอย่างยั่งยืน” เน้นย้ำ บูรณาการภาคีเครือข่ายเสริมสร้างสังคมสุขภาวะ สร้างความสุขสังคมไทย ขยายผลช่วยสังคมโลก ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างชุมชนและวัดอย่างไรให้มีความสุขอย่างยั่งยืน" ในพิธีเปิดโครงการพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะและเสวนาวิชาการงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานในพิธีเปิด และพระเถรานุเถระ พระสงฆ์ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และพุทธศาสนิกชน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมในพิธีและร่วมรับฟัง
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นความเมตตาของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ที่ได้จัดโครงการพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะและเสวนาวิชาการงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน ซึ่งพระสงฆ์ในบวรพุทธศาสนาของไทย จะได้ร่วมผนึกกำลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และทุกภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนดูแลสังคม ดูแลพี่น้องคนไทย และชาติต่าง ๆ ให้มีความสุขกาย สุขใจ นับเป็นความปีติยินดีอย่างยิ่ง
โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า พระสงฆ์อยู่คู่กับสังคมไทยในแวดวงสาธารณสงเคราะห์มาเนิ่นนาน เป็นที่พึ่งให้กับพุทธศาสนิกชนคนไทย และคนทุกชาติ ในทุกเรื่อง ทั้งในแง่ศาสนพิธีการ เช่น การเกิด การดูฤกษ์ยาม การตั้งชื่อ การแต่งงาน กระทั่งเสียชีวิต และในด้านการช่วยเหลือสังคม ที่คณะสงฆ์เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยและต่างชาติให้ได้รับความสุขกาย สุขใจ อบอุ่นใจ มีความสบายใจ อิ่มเอมใจ ในยามเกิดภัยพิบัติ และความทุกข์ยากอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาธารณสงเคราะห์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสุขใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ช่วยให้คนรู้จักการทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่องใส อยู่ในศีลในธรรม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า หน้าที่พิเศษอีกประการหนึ่งที่คณะสงฆ์ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมที่พวกเราได้เห็น ได้สัมผัส ได้เรียนรู้มาโดยตลอด ดังเช่น เมื่อครั้งที่ผมได้เรียนที่โรงเรียนวัดแหลมงอบ (นิเทศก์อุปถัมภ์) หรือปัจจุบัน คือ โรงเรียนชุมชนวัดแหลมงอบ (นิเทศก์อุปถัมภ์) ซึ่งก่อตั้งขึ้นด้วยความเมตตาของพระครูนิเทศธรรมญาณ อดีตเจ้าอาวาสวัดแหลมงอบ หรือหลวงพ่อหนิว ด้วยการอบรมสั่งสอนเด็กนักเรียนให้มีความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม ผ่านวัตรปฏิบัติในแต่ละวัน ทั้งการเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ จัดครูมาสอนวิชาความรู้ จึงเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ยืนยันได้ว่า วัดและโรงเรียนอยู่ควบคู่กันมา
นอกจากนี้ วัดและพระสงฆ์ยังมีการสาธารณสงเคราะห์ที่ใช้พัฒนาคน พัฒนาชาติ จวบจนถึงปัจจุบัน ใน 4 ประการที่เห็นชัด คือ การเป็น “ครู คลัง ช่าง หมอ” อันหมายถึง ด้านการเป็น “ครู” ที่อบรมสั่งสอนทางโลกให้ได้มีความรู้ ด้านการเป็น “คลัง” ที่ให้เราหยิบยืมถ้วยโถโอชาม เป็นคลังอาหาร คลังสรรพวิทยาการ ให้พวกเราได้ตักน้ำไปกิน ไปใช้ ด้านการเป็น “ช่าง” ที่มีพระมากความสามารถ อาทิ งานช่างปูน ช่างไม้ ช่างแกะสลัก ให้ญาติโยมไปฝึก ไปเรียน ช่วยกันก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย และด้านการเป็น “หมอ” ที่รวมสรรพศาสตร์ทางด้านยาสมุนไพร แพทย์ทางเลือก หรือแม้แต่น้ำมนต์ ก็ส่งผลรักษาทางด้านกำลังใจ ที่มีคู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวอีกว่า สิ่งประการสำคัญที่คณะสงฆ์ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมได้ร่วมรื้อฟื้นสิ่งที่เป็น “เสาหลักของประเทศชาติ” ให้กลับมาเข้มแข็งในยุคที่ฆราวาสกำลังลำบากในขณะนี้ คือ การส่งเสริมและฟื้นฟูภูมิปัญญาในเรื่องการทำมาหากิน ที่ตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ไปสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้ขับเคลื่อนภายใต้โครงการ “พุทธเกษตร” ร่วมกับศิษยานุศิษย์ เช่น ที่จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หรือท่านเจ้าคุณโซล่าร์ และท่านเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าอาวาสวัดป่าดงใหญ่วังอ้อ ได้เป็นกำลังสำคัญในการน้อมนำหลักดังกล่าว ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีสามารถฟื้นคืนชีวิตที่มีความสุขได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการสนองพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 10 ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง ให้กับพสกนิกรชาวไทย และพระราชทานโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ให้กับกรมราชทัณฑ์ เพื่อฝึกอบรมผู้ต้องโทษให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการขับเคลื่อน ส่งผลให้สภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ดีขึ้น เพราะโคก หนอง นา ในพื้นที่ 1 ไร่ต้องปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือไม้ 5 ระดับ เป็นร้อย ๆ ต้น ที่จะรอดชีวิตทั้งหมด เพราะไม้ทุกต้น ไม่ว่าจะเป็นไม้พะยูง ประดู่ สัก มะค่า ฯลฯ นั้นเป็นสมบัติของเจ้าของที่ดิน เป็นมรดกตกทอดไปสู่ลูกหลาน หรือแม้แต่ในสถานการณ์อุทกภัยหรือภัยแล้งที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนที่ขับเคลื่อนโคก หนอง นา ที่จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีแก้มลิง มีหนอง และคลองไส้ไก่ รองรับเก็บน้ำ และมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง นอกจากนี้ เราสามารถร่วมกันสนองพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมให้ทุกบ้านปลูกพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัย ปลอดสารพิษ ไม่พึ่งยาฆ่าแมลง ทำให้ครัวเรือนไม่มีหนี้สิน ซึ่ง ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้เคยคำนวณไว้ว่า ถ้าเราปลูกพืชผักสวนครัวตามแนวพระราชดำริฯ ในทุกบ้าน จะสามารถประหยัดค่าพืชผักที่ซื้อหานำมาทำอาหาร อย่างน้อยวันละ 50 บาท เมื่อเรามี 20 ล้านครัวเรือน ก็จะสามารถประหยัดได้ถึง 1,000 ล้านบาทต่อวัน หรือกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอกราบขอบพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ และพระเถรานุเถระทุกรูป ที่ได้ร่วมกันพัฒนาสังคม ชุมชน ให้มีความสุข ร่มเย็น ซึ่งตนและพี่น้องข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครต่าง ๆ และทุกภาคีเครือข่าย ดีใจและเต็มใจ และขอปวารณาตัวในการร่วมกับคณะสงฆ์ ขับเคลื่อนช่วยเหลือสังคม เพื่อให้คนไทยมีความสุขกาย สุขใจที่เพิ่มมากขึ้น และยั่งยืน ทั้งในแง่ของการเสริมสร้างให้คนในสังคมมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศล เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีวัตรปฏิบัติในการที่จะลด ละ การทำบาป ทำชั่ว และเพิ่มพูนในการทำความดี ทำบุญทำกุศล ช่วยกันดูแลสังคม การทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชน เพื่อที่จะไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ไปสู่การเสริมสร้างให้คนพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และในอนาคตอันใกล้ เราจะได้ร่วมกันลงนาม MOU ไปสู่การส่งเสริมสนับสนุนและขับเคลื่อนของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ ขยายผลไปสู่ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนให้เกิดความเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อ “Change for Good” ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย ทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
“การสงเคราะห์เกื้อกูล บูรณาการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จะช่วยเสริมสร้างสังคมสุขภาวะ พัฒนาสังคมของเราให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และยังสามารถขยายผลไปช่วยสังคมโลก ให้มีความสุข มีความยั่งยืน เหมือนดังที่สังคมไทยที่เราช่วยกันดูแลกันและกันอยู่ในขณะนี้ และนับได้ว่า เป็นการพัฒนางานและให้การสาธารณสงเคราะห์ตามหลัก บวร คือ ทุกฝ่ายมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ ( บวร ) และงานทั้งหลายทั้งมวลจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในความยั่งยืนได้อย่างดีนั้น พระสงฆ์ สามารถช่วยสงเคราะห์ญาติโยมหนุนเสริมและสร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนางานด้านต่างๆได้เป็นอย่างดียิ่ง “นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำทิ้งท้าย