จุฬาฯคาดขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด ChulaCov-19 ชนิด mRNA ที่วิจัยพัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ภายในกลางปี 65 เผยผลทดลองฉีดในมนุษย์เฟส 2 พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ได้สูงเทียบกับวัคซีนชนิด mRNA
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 64 นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของวัคซีน ChulaCov-19 ชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่การทดสอบเฟส 3 ซึ่งขณะนี้ได้มีการผลิตวัคซีนในประเทศไทย บรรจุขวด และรอตรวจประกันคุณภาพ
หากเป็นไปตามแผน จะสามารถเปิดรับอาสาสมัครประมาณก่อนสิ้นปี 64 เริ่มฉีดวัคซีนช่วงต้นปี 65 ถึงประมาณเดือนมี.ค. 65 มีการวิเคราะห์ข้อมูลช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 65 และจะมีการรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งเอกสารขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินกับองค์การอาหารและยา (อย.) ประมาณช่วงกลางปีต่อไป
ทั้งนี้ หากสามารถขึ้นทะเบียนสำเร็จ จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขของอย. โดยในการทดสอบระยะที่ 4 จะต้องติดตอาสาสมัครคนไทยเพิ่มอีก 30,000 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปีหน้าจะเหลือประชากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจำนวนน้อยมาก จึงต้องมีการวิจัยการฉีดวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 และเข็ม 4 รองรับประชากรในประเทศที่ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนไปแล้ว พร้อมทั้งเตรียมทดสอบในอาสาสมัครที่อายุน้อยลง ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมวัคซีนรุ่น 2 และรุ่น 3 โดยขณะนี้ได้มีการทดลองในหนูแล้ว
สำหรับผลการทดสอบ หลังทดลองฉีดมนุษย์ในเฟส 2 พบว่า วัคซีน ChulaCov-19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ได้สูงเทียบกับวัคซีนชนิด mRNA และการกระตุ้นภูมิจะสูงขึ้นหากฉีดในปริมาณมาก ในขณะเดียวกันสามารถกระตุ้นทีเซลล์ได้สูงกว่าวัคซีนไฟเซอร์ถึง 2 เท่า และสามารถป้องกันสายพันธุ์ได้หลากหลายทั้งอัลฟา เบตา และเดลตา โดยผลข้างเคียงหลังการฉีดเข็มที่ 2 พบบางรายมีอาการไข้เล็กน้อย และยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงอย่างอาการลิ่มเลือด