ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กปม. คุมเข้มกระบวนการผลิตกุ้งทะเลไทย
03 ธ.ค. 2564

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา กรมประมงได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย โดยดำเนินงานภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 เพื่อควบคุมกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ กรมประมงยังให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งทะเล 

ทั้งในฟาร์มเลี้ยง และโรงงานแปรรูป ซึ่งต้องปฏิบัติตามแนวทางการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice: GLP) นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส และแรงงานบังคับ โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานของแรงงานเป็นอย่างยิ่ง  ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า กุ้งทะเลที่ผลิตออกมาสู่ตลาดทั้งเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและเพื่อการส่งออก เป็นกุ้งทะเลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ในปี 2556 สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลของไทยประสบวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคตายด่วน (EMS/AHPND) ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งทะเลของไทยลดลงเป็นอย่างมาก ประกอบกับยังคงพบการระบาดของโรคกุ้งทะเลชนิดอื่น จึงทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลของไทยฟื้นตัวไม่มากนัก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากแต่ในปี 2563 และ
ปี 2564 ผลผลิตกุ้งทะเลมีปริมาณลดลงเล็กน้อย ซึ่งปัจจัยหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค
ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยในปี 2564  มีปริมาณผลผลิตรวมโดยประมาณ 257,000 ตัน จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งทะเลที่ผ่านมา ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศที่มีปริมาณน้อย
เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ และยังคงมีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับโลก 
ผ่านกลไกการหารือร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลเพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้การนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาภายในประเทศ สำหรับในปี 2564 (มกราคม - กันยายน) ประเทศไทยมีการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไม (แช่แข็ง) ปริมาณรวมประมาณ 13,800 ตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเอกวาดอร์ คิดเป็น ร้อยละ 99 สำหรับกุ้งกุลาดำ (แช่แข็ง) มีการนำเข้าเพียงเล็กน้อย ปริมาณรวม 13 ตัน โดยนำเข้าจากประเทศแคนาดาและญี่ปุ่น

รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร ผู้ประกอบการและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเล พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งเป็นแผนระดับชาติ ประกอบด้วย 2 แผนหลัก คือ แผนปฏิบัติการด้านการตลาดและการผลิต และแผนปฏิบัติการด้านการควบคุม เฝ้าระวังโรคสารตกค้างอาหารปลอดภัย และการรับรองมาตรฐาน ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมการดำเนินงาน รวมทั้งหมด 27 กิจกรรมครอบคลุมการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมุ่งหวังว่า ผลผลิตกุ้งทะเลของไทยจะสามารถกลับฟื้นคืนมาอยู่ในระดับ 
400,000 ตัน ในปี 2566  และร่วมกันผลักดันให้โรงเพาะฟักฯ ทุกแห่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งทะเลที่ได้คุณภาพ ปลอดโรค และผลผลิตกุ้งทะเลปลอดสารตกค้าง ควบคู่กับการส่งเสริมให้ฟาร์มเลี้ยงทุกแห่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ภายในปี 2567 

กรมประมงเน้นย้ำว่า... แม้การกู้สถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยให้กลับมาเป็นประเทศผู้นำอีกครั้ง จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมาก แต่หากผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร ตลอดจนสถาบันการศึกษา ร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจกันอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะสามารถช่วงชิงตลาดและกลับมาเป็นประเทศผู้นำการผลิตกุ้งทะเลได้อีกครั้งอย่างแน่นอน อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงในการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศให้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ตลอดจนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการกุ้งทะเลไทยให้ยั่งยืนสืบไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...