หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้หนังสือเชิญจากคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อเข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองทั้ง 10 หัวข้อ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในวันนี้แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายชูศักดิ์ ศิรินิล , นายภูมิธรรม เวชยชัย , นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล , นายปลอดประสพ สุรัสวดี , นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ประชุมกันเพื่อเตรียมประเด็นและบุคคลที่จะเข้าชี้แจง
ภายหลังการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางพรรคได้นัดหมายกับทางสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมเพื่อเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในวันที่ 8 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 12.00 น. โดยจะมีผู้เข้าชี้แจงจำนวนไม่เกิน 10 คน อาทิ พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , ฝ่ายกฎหมายและทีมที่ปรึกษาพรรค เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล , นายโภคิน พลกุล , นายนภดล ปัทมะ , นายชัยเกษม นิติศิริ , นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ยังเป็นเพียงการกำหนดเบื้องต้น แต่จะชี้แจงความชัดเจนอีกครั้ง ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมด้วยหรือไม่นั้น ต้องมีการหารืออีกที
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า รายละเอียดข้อเสนอการพูดคุยยังไม่มีข้อยุติ แต่โดยรวมแล้วการให้ข้อมูลจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุและทางออกในการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะมีการจัดทำเอกสารชี้แจงเพื่อแจกให้ทุกฝ่ายด้วย แต่เบื้องต้นมีข้อเสนอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ ด้วยการเร่งสร้างบรรยากาศการรับฟังความเห็นที่ต่างกันอย่างสันติวิธี
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ในฐานะได้รับมอบหมายให้ติดตามเรื่องนี้ กล่าวถึงประเด็นคำถามทั้ง 10 หัวข้อว่า หลายคำถามเป็นเรื่องปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยในหลักการกำหนดยุทธศาตร์ชาติที่ยาวนาน
นายชูศักดิ์ ยังเสนอข้อเสนอ 6 ข้อ เป็นหลักการที่จะทำให้การสร้างความปรองดองสำเร็จ คือ 1.)หลักความเป็นกลาง 2.)หลักความเป็นอิสระของคณะทำงานปรองดอง 3.)ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการค้นหาความจริงและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย 4.)จะต้องไม่มีการตั้งข้อจำกัดหรือมีเงื่อนไขในการทำความเข้าใจ 5.)ต้องไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งให้เกิดขึ้นใหม่ และ 6.)ผลสรุปแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองควรเป็นความเห็นพ้องต้องกันจากทุกฝ่าย