#CSRcontent : โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด
ชุมชนแบบแสตมป์
บ่อยครั้งที่เห็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนมี prop ยอดฮิตคล้ายๆ กันไว้เป็นจุดถ่ายภาพของนักท่องเที่ยว ดูจากภาพก็ยากที่จะรู้ว่า เป็นชุมชนไหน สถานที่ไหน เจอคุณ จ๊อบ นิธิ สมุทรโคจร เจ้าของ รายการสมุดโคจร ที่ทำรายการท่องเที่ยวทั่วโลกมานานกว่า 17 ปี มีมุมหนึ่งที่สนใจคือ การอนุรักษ์อัตลักษณ์ชุมชนผ่านรายการท่องเที่ยว ตัวผู้ดำเนินรายการรวมถึงดารานักแสดงหวังว่า จะช่วยกระตุ้นให้ทั้งผู้ชมรายการ นักท่องเที่ยว ประชาชนในชุมชน ภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ตระหนัก และช่วยกันสนับสนุนแนวทางอนุรักษ์นี้
คุณจ๊อบกล่าวว่า “จากประสบการณ์การทำรายการท่องเที่ยวมาเป็นระยะเวลานาน พบว่า สิ่งหนึ่งที่กำลังเลือนหายไปคือ การอนุรักษ์ ถ้าเราไปท่องเที่ยว แล้วทำแค่ถ่ายรูปเช็คอิน กินอิ่มแล้วกลับ อัตลักษณ์ต่างๆ ของชุมชนนั้นๆ คงจะหายไป จนสุดท้ายมันกลายเป็น ชุมชนแบบแสตมป์ ทุกชุมชนดูเหมือนกันไปหมด กินข้าวเหมือนกัน กิจกรรมเหมือนกัน แต่ถ้าเราสามารถช่วยรักษาอัตลักษณ์ของเขาไว้ได้ผ่านรายการของเรา สิ่งที่กำลังจะสูญหายไป ก็อาจกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ไปที่ชุมชนบ้านท่าระแนะ จังหวัดตราด และได้ทำกิจกรรมเล่นโบว์ลิ่งบนลานตะบูนที่สวยงามมาก ชาวบ้านใช้ลูกตะบูนเป็นลูกโบว์ลิ่ง ใช้รากลำพูที่ขาดหลุดออกมาเป็นพิน คิดดูสิว่า เราจะทำกิจกรรมแบบนี้ได้ที่ไหนอีก นี่แหละเสน่ห์และอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างแท้จริง อันนี้เป็นแค่ตัวอย่าง เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีเสน่ห์และมนต์สะกดของตนเองที่ไม่เหมือนกันเลย”
“ผมสนใจการท่องเที่ยวชุมชน เพราะเสน่ห์ของการท่องเที่ยว คืออัตลักษณ์และความแตกต่างจากสำนวนที่ว่า You are what you eat เวลาที่ผมเดินทางไปยังชุมชนไหน ผมจะไปดูตลาดของเขาเสมอ เพราะผมจะได้รู้จักเขาในอีกมุมหนึ่ง ผมอยากรู้ว่า แต่ละพื้นที่เขามีมุมมองการใช้ชีวิตแบบไหน มีการจัดการระบบการท่องเที่ยวยังไง จนถึงวันหนึ่งที่คนเริ่มรู้จักผมมากขึ้น จำผมได้ ทักทายกัน มันให้ความรู้สึกเหมือนเราเป็นเพื่อนกัน”
“ตั้งแต่ที่ผมเริ่มออกเดินทางมาจนถึงทุกวันนี้สังเกตเห็นว่า คนเราเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยลง ยิ่งถ้าไปในที่ๆ ไม่รู้จัก เจอคนไม่รู้จัก ปฏิสัมพันธ์ยิ่งน้อยลงไปอีก ดังนั้น ถ้าบอกอะไรได้ ผมก็อยากให้ทุกคนหันมาท่องเที่ยวแบบใส่ใจกันและกันมากขึ้น ลองไปเที่ยวในรูปแบบใหม่ เดินเล่นพูดคุยกับคนอื่นๆ เพิ่มเพื่อนใหม่ๆ และทำความรู้จักว่า ในแต่ละพื้นที่นั้น เขามีคุณค่าอะไรซ่อนอยู่บ้าง และอย่าลืมที่จะเป็นมิตรกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม บางครั้งผมพาลูกทั้ง 2 คน ไปร่วมกิจกรรมด้วย เช่น เก็บขยะในทะเล ปลูกป่าชายเลน ไปเป็นวิทยากรให้กับชุมชนต่างๆ แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงยังมีโอกาสเข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวแบบ Low carbon ซึ่งทำให้เราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
อัตลักษณ์ชุมชน เช่น ชุมชนชาวมอญ ชุมชนชาวเล หมายถึง รากเหง้าหรือวัฒนธรรมทางสังคมที่ถูกหลอมให้เกิดขึ้นและใช้ในการยึดเป็นภูมิปัญญา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีในการปฏิบัติในสังคมนั้นๆ มีความโดดเด่นหรือความแตกต่างจากขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในสังคมอื่นๆ อันเป็นลักษณะเฉพาะกลุ่มชุมชน อัตลักษณ์ของชุมชนขึ้นอยู่กับการเกิดและการเป็นเจ้าของที่เรียกว่า Ascriptive มากกว่าที่จะพิจารณาจากคุณสมบัติ หรือความสำเร็จที่ได้มาในรูปแบบต่างๆ และไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกของปัจเจกบุคคล เราไม่อาจสลัดอัตลักษณ์ออกได้แม้เลือกที่จะปฏิเสธ อัตลักษณ์เชิงนามธรรมและความรู้สึกของชุมชนนั้น เป็นสากล ทุกคนมีมาตุภูมิ ภาษาแม่ ครอบครัว วัฒนธรรม ความศรัทธา ความมุ่งมั่นเท่าเทียมในตัวตนเหมือนกัน
รวมทั้งมีการขยายและทับซ้อนกันของความสัมพันธ์ในชุมชน เช่น ครอบครัว เครือญาติ เชื้อชาติ ภาษา ส่วนอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ เช่น ลานตะบูน ถ้ำนาคา เป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ตัวตนของสถานที่หรือสิ่งๆ นั้น ซึ่งมักจะเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องเล่า วรรณกรรม ศาสนา หรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดังกล่าว สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในเมืองไทย รวมถึงหลายแห่งในโลกนี้ ต่างก็มีตำนาน นิทาน นิยายปรัมปรา เล่าขานเคียงคู่มากับสถานที่นั้น
ชุมชนที่เข้มแข็งเป็นรากฐานของโลกที่สงบสุขและแข็งแกร่ง เพราะผู้คนทั่วโลกต้องการสิ่งเดียวกัน อย่างน้อยคือ การเข้าถึงอากาศและน้ำที่สะอาด โอกาสทางเศรษฐกิจ มีสถานที่ที่ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะเพื่อเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีที่พักพิง สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สามารถพูดและตัดสินใจอย่างอิสระในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา อันเป็นที่มาของเป้าหมายโลก Sustainable Development Goals (SDGs 17) เป้าหมายที่ 11 Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง
ก่อนหน้านั้น ในปี 1987 คณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (WCED) ได้ตีพิมพ์รายงานที่มีชื่อว่า Our Common Future ที่พัฒนาหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน และทำให้ Institute for Sustainable Communities หรือ ISC กำเนิดขึ้นในปี 1991 โดย Madeleine M. Kunin ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา และ George Hamilton ดำรงตำแหน่ง ISC President ในปี 1988 Governor Kunin เป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของสมาคมผู้ว่าการรัฐแห่งชาติ ซึ่งเธอได้สร้างคณะทํางานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น อีกทั้งรัฐเวอร์มอนต์ได้ช่วยจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอเมริกาเหนือ ในปี 1989 ภารกิจของ ISC คือ ช่วยให้ชุมชนทั่วโลกจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น และแบ่งปันโดยทุกคน ปัจจุบันดำเนินการอยู่ใน สหรัฐอเมริกา จีน บังคลาเทศและอินเดีย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ และความอยุติธรรมทางสังคม เป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของการสร้างชุมชนที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในยุคปัจจุบัน วิธีการของ ISC คือการปลดปล่อยพลังความสามารถของผู้คนในชุมชนเพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชนของพวกเขา แทนที่จะถูกกําหนดจากภายนอก ด้วยการ 1. แบ่งปันแนวทางปฏิบัติและประสบการณ์ที่ดีที่สุดในระดับสากล 2. ให้ความรู้ด้านเทคนิคและการฝึกอบรม และ 3. สร้างขีดความสามารถขององค์กรท้องถิ่น แนวทางของ ISC สอดคล้องกับแนวทางของประเทศไทย การพัฒนาชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง “ต้องระเบิดจากข้างใน” ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่นำเอาความเจริญหรือบุคคลภายนอกเข้าไปหาชุมชนที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว
เราคุยถึงชุมชน ในวาระที่คนไทยแห่กันกลับภูมิลำเนาเพื่อใช้สิทธ์ออกเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ด้วยเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังจากการปฏิวัติโดย คสช. ที่มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 5,329 แห่ง ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 น่าเสียดายที่ประเด็นข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังมีเรื่องการทุจริตขายเสียงอยู่ไม่น้อย วันนี้ หากนักพัฒนา นักการเมือง นักธุรกิจ องค์กรส่วนท้องถิ่น คนในชุมชนเอง หรือผู้ที่ทำ CSR จิตอาสาขององค์กรต่างๆ จะแบ่ง agenda มาสนับสนุนการอนุรักษ์อัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนอย่างจริงจัง ไม่ชี้นำแต่สิ่งที่คนอื่นทำแล้วดีให้ทำตามกันไปจนขาดเอกลักษณ์ รวมทั้งใช้ 3 แนวทางของ ISC มาช่วยในการพัฒนาแล้ว เชื่อว่า ทุกชุมชนจะสร้างสรรค์จุดขายจากอัตลักษณ์ของตัวเองได้สูงสุด ทั้งในรูปของการท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรมประเพณี ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ทั้งในพื้นที่จริงและโลกดิจิตัล
อย่ายอมให้อัตลักษณ์ชุมชนของคุณจางไป ด้วยตราประทับของคนอื่น