สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อนุมัติทุนวิจัย 201.551 ล้านบาท ให้กับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เรื่อง เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้า เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems : ESS) ภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2559 โดยได้ปิดรับสมัครผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการ ไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2559 มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจยื่นเสนอขอรับทุน จำนวน ทั้งสิ้น 153 โครงการ และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา คณะทำงานกำกับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ได้พิจารณาอนุมัติโครงการวิจัยทั้งสิ้น จำนวน 27 โครงการ มูลค่างบประมาณรวม 201.551 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มประยุกต์ใช้ ได้แก่ ESS-ความมั่นคงและภัยพิบัติ จำนวน 4 โครงการ, ESS-อุตสาหกรรม/พื้นที่ห่างไกล 3 โครงการ, ESS-ยานยนต์ไฟฟ้า 2 โครงการ รวมมูลค่างบประมาณสำหรับกลุ่ม 1 เท่ากับ 126.091 ล้านบาท
และ กลุ่มที่ 2 กลุ่มวิจัยพัฒนา ได้แก่ ด้านวัสดุ ระบบกักเก็บ ESS จำนวน 12 โครงการ, ระบบควบคุม/เชื่อมโยงการนำ ESS ไปใช้งาน จำนวน 4 โครงการ และการจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี จำนวน 2 โครงการ รวมมูลค่างบประมาณสำหรับกลุ่มที่ 2 เท่ากับ 75.46 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะได้ดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกผ่านทางเว็บไซต์ http://www.thailandenergystorage.in.th/ และ https://www.facebook.com/ThailandEnergyStorage นอกจากนี้ คณะทำงานกำกับงานวิจัยฯ ได้อนุมัติหลักการและกรอบงบประมาณ (ที่เหลือ) สำหรับโครงการระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแบบบูรณาการ เพื่อทำให้พลังงานทดแทนมีความเสถียร เบื้องต้น คณะทำงานกำกับฯ ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับทุนรอบที่ 2 โดยขอให้มีสัดส่วนการพัฒนาและการผลิตภายในประเทศ (Local content) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้ จะประกาศรายละเอียดเปิดรับ สมัครผู้สนใจรอบที่ 2 ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2560 นี้
สำหรับ เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เป็นการสนับสนุน ภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2559 จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้งานจริงของระบบกักเก็บพลังงาน ในเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ การลดพีคไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม สร้างความเสถียรภาพให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน พื้นที่ห่างไกล และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2560 เพื่อสร้างโอกาสด้านการตลาด กระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ และเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่ที่ดีกว่า และ/หรือเทียบเท่าต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในการพัฒนาเทคโนโลยีและทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศไทยระยะ 20 ปี ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)