พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมนิทรรศการเด็กไทยสายตาดีวิถีชีวิตใหม่ สู่การเรียนรู้ที่ดีกว่า พร้อมมอบแว่นสายตาให้ตัวแทนเด็กนักเรียน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยสายตาดี เป็นข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและภาคเอกชนในปีที่ผ่านมา มีการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการเฝ้าระวังสุขภาพสายตานักเรียนตามแนววิถีชีวิตใหม่ โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมอนามัย โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรม และตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง ในการส่งตัดแว่นสายตา ในปีนี้จะมีการขยายผลอบรมบุคลากรสาธารณสุขทุกจังหวัด เพื่อให้ทำหน้าที่อบรม ครูประจำชั้น ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการตรวจคัดกรองสายตาเบื้องต้นในงานอนามัยโรงเรียน รวมถึงดำเนินการคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ในโรงเรียนทุกสังกัด ตลอดจนนักเรียนชั้นอื่น กรณีสายตาผิดปกติ สามารถรับการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และรับแว่นสายตาได้ด้วย
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการตรวจคัดกรองสายตาและรับแว่นสายตานักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โครงการเด็กไทยสายตาดี ในปี 2564 พบว่า มีนักเรียนได้รับการคัดกรอง 233,639 คน จากจำนวนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั้งหมด ที่จะได้รับการคัดกรองสายตา กว่า 700,000 คน คิดเป็นร้อยละ 32 นักเรียนได้รับการตรวจคัดกรองพบสายตาผิดปกติ จำนวน 5,722 คน คิดเป็นร้อยละ 2.4 นักเรียนได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ และมีนักเรียนได้รับแว่นสายตาจากภาคเอกชน จำนวน 2,655 คน ดังนั้น ในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขมุ่งหวังขยายผลให้เด็กนักเรียนได้รับ แว่นสายตาอย่างทั่วถึงทุกจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแว่นสายตาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) โดยร่วมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติเดือนมกราคม 2565 ที่จะถึงนี้
ทางด้าน ศาตราจารย์วุฒิคุณนายแพทย์ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้ชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และนับวันเป็นที่นิยมในเด็กอายุน้อยลงทุกวัน เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อปัญหาสายตาอย่างมาก ปัจจุบันพบนักเรียนสายตาสั้นมากขึ้น สูงถึง 10–20 เปอร์เซ็นต์ การเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญ ส่งผลกระทบทำให้มีการเพ่งสายตามากหรือเพ่งค้าง มีผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้โดยตรง ขณะนี้มีการเรียนออนไลน์มากขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน การเล่นโทรศัพท์มือถือของเด็ก มักจะอยู่ในห้องแคบไม่ไปเล่นในที่กลางแจ้ง ไม่ทำกิจกรรมใด ๆ ส่งผลกระทบทำให้สายตาสั้น ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ 20–20–20 กล่าวคือ พักสายตาทุก 20 นาที เป็นระยะเวลานาน 20 วินาที และมองไกลระยะ 6 เมตร หรือ 20 ฟุต ทั้งนี้ จุดเน้นการปฏิบัติสำหรับเด็กนักเรียน ดังนี้ 1) เด็กนักเรียนควรมีการพักสายตาทุก 50 นาที–1 ชั่วโมง นาน 5–10 นาที เพื่อผ่อนคลายการเพ่งสายตา 2) เด็กมีทัศนคติต่อการใช้สื่อออนไลน์ 3) ควรกำหนดกติกา การใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสม 4) เล่นหรือใช้โทรศัพท์มือถือในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ และ 5) ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมทางกายนอกห้องเรียนหรือกลางแจ้ง จะช่วยลดปัญหาสายตาด้วย