รายงานความคืบหน้าประเด็นตรวจสอบข้อมูลการแจ้งข้อมูลบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของ นางศรีกัญญา ยาทิพย์ กรณีเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 และล่าสุดวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา กรณี นางศรีกัญญา ยาทิพย์ ระบุว่า มีทรัพย์สินอื่น จำนวน 2 รายการ คือ ชุดเพชร (แหวน สร้อยข้อมือ สร้อยคอ) 1 ชุด มูลค่า 200,000 บาท และกระเป๋า Bottega Veneta 1 ใบ มูลค่า 350,000 บาท
ขณะที่การปรากฏตัวของ นางศรีกัญญา ยาทิพย์ ต่อสาธารณะ ผ่านรูปถ่ายในเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมไปถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มีการสวมใส่เครื่องประทับราคาแพงอยู่บ่อยครั้ง แต่ทรัพย์สินเหล่านี้ กลับไม่ปรากฏอยู่ในการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
เบื้องต้น ทีมงาน นางศรีกัญญา ชี้แจงว่า นาฬิกาหรูและกระเป๋าแบรนด์เนม ที่นางศรีกัญญา สวมใส่ถ่ายภาพดังกล่าว เป็นของลูกสาวที่บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ส่วนราคาที่ซื้อมาก็ไม่ได้แพงมากมายนัก ปัจจุบันลูกสาวทำธุรกิจด้านแฟชั่น อยู่ที่มิลาน ประเทศอิตาลี ช่วงที่ผ่านมากลับมาทำธุระครอบครัว
ล่าสุด นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว แต่เป็นตรวจสอบเบื้องต้นตามขั้นตอน ยังไม่ได้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบเป็นทางการแต่อย่างใด
"เรื่องนี้คงเป็นเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินตามปกติ ซึ่งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจดูว่าข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นอย่างไร ข่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร ตอนนี้จะเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นก่อน ยังไม่มีการตั้งกรรมการตรวจสอบแต่อย่างใด ถ้ามีมูลว่าเป็นของเขาเอง แล้วเขาไม่ยื่นก็อาจจะผิดข้อกฎหมายทรัพย์สินว่าไม่ยื่นได้" นายนิวัฒิไชยระบุ
ส่วนกรณีที่ทีมงานของนางศรีกัญญา ชี้แจงว่า นาฬิกาหรูและกระเป๋าแบรนด์เนมเป็นของลูกสาวที่บรรลุนิติภาวะแล้วนั้น นายนิวัฒิไชย กล่าวว่า "ถ้าเป็นของบุตรที่บรรลุนิติภาวะ ก็จะต้องไปดูว่าบุตรนั้นเอาเงินที่ไหนมาซื้อ ถ้ามีการซื้อให้บุตรก็ไม่มีปัญหา เป็นเงินพ่อแม่ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน เพียงแต่ต้องไปไล่ดูว่าพ่อแม่เอาเงินที่ไหนไปซื้อ ซึ่งเป็นไปตามหลักการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินอยู่แล้ว"
นายนิวัฒิไชย กล่าวย้ำว่า "เรื่องนี้ต้องไปดูในประเด็นเรื่องมูลค่าของเครื่องประดับที่แท้จริงด้วยว่าเท่าไรกันแน่ ซึ่งมีรายละเอียดที่เยอะมาก และสลับซับซ้อนมากพอสมควร"
ขณะที่ แหล่งข่าวจากสำนักงาน กบข. แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กบข. ทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. มีกรรมการ 2-3 คน ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในที่ประชุม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นางศรีกัญญา ยาทิพย์ ไม่ได้อยู่ประชุมด้วย เบื้องต้นที่ประชุมเห็นควรที่จะมีการตรวจสอบเรื่องนี้และมีการชี้แจง จึงให้มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ กบข. เป็นทางการในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งมีการนัดหมายไว้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 2565 นี้