นายนฤทัย วรสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น (สวพ.3) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญในด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น จึงตระหนักถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยทางอาหารทำให้ตลาดและเกษตรกรให้ความสำคัญในใบรับรอง GAP แหล่งผลิตพืชปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพและปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการรับรองแหล่งผลิตพืชในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทำให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตและได้ราคาที่สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับกับผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง
ด้านนายมนตรี ทะนารี เป็นเกษตรกรอาศัยอยู่ที่ ตำบลโนนท่อน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้รับการรับรองแหล่งผลิต GAP โดยจุดเริ่มต้นของการทำ GAP ของครั้งนี้ มาจากในช่วงแรกผลิตผักขายตามตลาดในเมืองขอนแก่น และมีเจ้าหน้าที่จากห้างสรรพสินค้าเข้าไปหาซื้อผักที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) และเกษตรอินทรีย์ เข้าสู่ตลาดทำให้เป็นจุดเปลี่ยนของการทำการเกษตรของนายมนตรีโดยได้รับคำแนะนำให้ขอมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งภายหลังจากได้ปฏิบัติตามคำแนะนำการเข้าสู่มาตรฐาน GAP และได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP จาก สวพ.3 แล้วจึงเปิดตัวแหล่งผลิตพืชผักปลอดภัยเครือข่ายกรมวิชาการเกษตรอย่างเป็นทางการในงานวันเกษตรภาคอีสาน โดยใช้ชื่อแบรนด์สวนสลัดจันทร์ดาว ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีตลาดเพิ่มมากขึ้น เช่น ท๊อปซุปเปอร์มาเก็ต ห้างเซ็นทรัลพลาซ่าจังหวัดขอนแก่น มุกดาหาร และร้อยเอ็ด ตลาดเขียวบึงแก่นนคร ตลาดถนนคนเดินขอนแก่น ตลาดหน้าแฟรี่ขอนแก่น เป็นต้น
นายมนตรี ทำการเกษตรโดยยึดการผลิตพืชปลอดภัย ตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตได้คุณภาพและมีความปลอดภัย ด้านการผลิตจะแบ่งพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยปลูกหมุนเวียนผสมผสานแบ่งพื้นที่ตามฤดูกาล เช่น พืชตระกูลกะหล่ำจะปลูกในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ มะเขือเทศจะปลูกในช่วงเดือนกันยายน-เมษายน และพืชตระกูลผักกาดหอมจะปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยมีการวางแผนการผลิตตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก ปัจจุบันนายมนตรีมีรายได้จากการจำหน่ายผักสลัดประมาณ 2,400,000 บาท/ปี หรือประมาณ 200,000 บาท/เดือน
นายมนตรี ได้บอกเล่าถึงความสำเร็จ ในการผลิตพืชผักปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ว่า การปลูกผักขั้นแรกต้องมีใจรักจึงจะทำได้ต่อเนื่องและยาวนาน และอย่ากลัวว่าปลูกแล้วจะไม่มีที่ขาย หากสินค้าดีมีคุณภาพจะต้องมีสถานที่ขายและปลูกแล้วไม่พอขายอย่างแน่นอน ความภูมิใจที่สุดในการทำสวนสลัดจันทร์ดาวคือการได้ทำในสิ่งที่รักและสามารถขยายความรู้ให้กับเกษตรกรคนอื่นด้วย รวมทั้งการได้รับโล่รางวัลเป็นเกษตรกร GAP ดีเด่นของกรมวิชาการเกษตร อย่างไรก็ตามถึงแม้ปัจจุบันนายมนตรีจะประสบความสำเร็จในการผลิตผักสลัดภายใต้แบรนด์สวนสลัดจันทร์ดาวแล้วก็ตามแต่ยังได้พยายามหาความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาปรับปรุงการทำสวนสลัดอยู่ตลอดเวลาและพร้อมที่จะให้คำแนะนำแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำสวนสลัดให้ประสบความสำเร็จแก่เกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย