#CSRcontent : โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด
น้ำใจไทย
สวัสดีปีเสือหิว 2565 จะหิวแค่ไหนก็ขอให้มีน้ำใจกันบ้าง ก่อนจะไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ความมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นน่าจะเป็นพื้นฐานขั้นต่ำสุดของมนุษย์ เรามักพูดถึง น้ำใจไทย ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่เชื่อว่า เป็นคุณสมบัติของคนดี หรือ ผู้ดี สิ่งเหล่านี้ยังเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหนในสังคมปัจจุบันที่หลายคนเหนื่อย ท้อ ต้องทำงานมากขึ้น ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด แต่บางครั้ง น้ำใจไม่ต้องซื้อหา ไม่ได้ทำให้เหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่เกิดประโยชน์กับคนอื่นได้อย่างแท้จริง..... คนกลับเลือกที่จะไม่ทำ
วัคซีนเข็ม 3 เข็ม 4 ที่คนไทยกำลังฉีดกันอยู่ในช่วงนี้ ยังสับสนในข้อมูล เช่น ระยะห่างจากเข็ม 2 เวลา 1 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน แล้วแต่ประเภทวัคซีนที่ฉีดไว้เดิม ข่าวสารไม่ชัดเจนนัก ประชาชนจึงต้องตรวจสอบเองให้มั่นใจก่อนไปรอรับวัคซีน ซึ่งมีแตกต่างกันไปตามสถานที่ฉีด รวมถึงถึงโมเดอร์นาที่ประชาชนจ่ายเงินกันไว้กับโรงพยาบาลเอกชนในช่วงที่ต้องแย่งกันฉีด แต่วันนี้รัฐเอามาฉีดให้ฟรีก่อน
ในเมื่อการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ทุกคนที่ขวนขวายไปฉีดย่อมเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมด้วย คนต่างชาติที่ทำงานในไทยรัฐก็ดูแลให้ได้รับวัคซีน และนายจ้างก็หาทางให้ได้ฉีดวัคซีนกัน มีเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความแล้งน้ำใจจนอยากเล่าสู่กันฟัง ได้พาแม่บ้านต่างชาติที่เขียนหนังสือไทยไม่ได้ไปรอรับวัคซีนที่ศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่นดินแดง จองคิวเรียบร้อย และให้เอกสารการฉีดเดิมทั้งหมดไว้ เมื่อส่งเขาก็ขับรถออกไป เพราะไม่มีที่จอดรถ สักครู่แม่บ้านโทรฯ ตามให้มาช่วยกรอกเอกสารที่ให้ใส่ชื่อและกา ใช่ -ไม่ใช่ เพื่อเช็คประวัติ ได้บอกแม่บ้านให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากออกมาไกลแล้ว แม่บ้านแจ้งว่า เขาไม่ยอม ให้เรียกนายจ้างกลับมาทำให้ คิดว่าคนคงล้นจนไม่สามารถบริการผู้หนึ่งผู้ใดได้จึงรีบกลับมา
แต่ภาพที่ปรากฏในเต็นท์ คือคนโล่งมาก สถานที่จัดเป็นระบบระเบียบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ด้านนอกมีไม่ต่ำกว่า 10 คน รู้สึกขัดแย้งและประหลาดใจที่ไม่มีใครยอมช่วยเหลือ ยังไงก็ไม่ยอมด้วยเหตุผลว่า ถ้าทำให้คนหนึ่งก็ต้องทำให้คนอื่นด้วย ด้วยสามัญสำนึกสภาพหน้างานโล่งแบบนั้น ไม่มีคนอื่นมากมายมาให้ช่วยทำแน่นอน ที่ประหลาดใจเพราะเจ้าหน้าที่กินเงินเดือนรัฐจากภาษีประชาชน สภาพเช้าชามเย็นชาม หรือ ธุระไม่ใช่ ไม่น่าจะหลงเหลืออยู่ในยุควิกฤตนี้
การขาดน้ำใจเล็กน้อยของพวกเขาทำให้เสียทรัพยากร แรงงาน และเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ อันที่จริงรัฐก็เหมือนองค์กรธุรกิจ ผู้มาใช้บริการก็คือหนึ่งใน stakeholder ที่ต้องใส่ใจและปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ในช่วงสึนามิคนไทยเคยร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทั่วโลกจนเป็นที่ประจักษ์ แต่วันนี้ วันที่ประเทศไทยโปรโมทภาพลักษณ์ โชว์วัฒนธรรมประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว รักษ์สิ่งแวดล้อม รักความเป็นไทย และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน บลาๆ ช่วยแสดงน้ำใจกับคนไทยด้วยกันและคนต่างชาติที่เขามาทำงานกับเราด้วย อย่าให้ใครมาว่า คนไทยใจดำ
ทำไมคิดถึง Blood diamond เพชรสีเลือด ที่เป็นหนึ่งกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความรับผิดชอบต่อสังคม จนกระทั่งเกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เพชรสีเลือดมีชื่อเรียกหลายชื่อ Blood diamond, Conflict diamond, Brown diamond, Hot diamond, Red diamond ล้วนแสดงถึงความโหดร้ายและความขัดแย้งในอดีตของสงครามกลางเมือง เซียรา ลีโอน (Sierra Leone) ในทวีปแอฟริกา และการทำเหมืองเพชรในเขตสงครามที่มีการใช้แรงงานเพื่อนร่วมแผ่นดินรวมทั้งเด็กและคนแก่เยี่ยงทาส
ในปี 1991-2002 กองกำลังปฏิวัติ The Revolutionary United Front (RUF) ได้ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลเซียรา ลีโอนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการปกครองประเทศ และสิทธิในการเข้าครอบครองแหล่งแร่เพชรซึ่งมีอยู่มากในประเทศ Blood Diamond ถือเป็นแหล่งทำเงินหลักของกองกำลังปฏิวัติ โดยนำเงินจากการขายเพชรไปซื้ออาวุธ เป็นเงินทุนเสริมสร้างกองทัพ การค้าอาวุธและของเถื่อน เงินที่ได้มานั้น ล้วนมาจากกระบวนการผิดกฎหมาย การทรมาน การฆาตกรรม อีกทั้งยังมีการคอร์รัปชันกับพ่อค้าเพชรบางกลุ่ม เพชรเหล่านี้ถูกส่งเข้าสู่ตลาดเพชรนานาชาติด้วยวิธีไม่ชอบธรรม และขายต่อในตลาดเพชรอย่างถูกกฎหมาย กองกำลังปฏิวัติ RUF ยังได้รับการสนับสนุนจาก Charles Taylor ซึ่งต่อมาได้เป็นประะธานาธิบดีของประเทศไลบีเรีย (Liberia)
สงครามกลางเมือง เซียรา ลีโอน ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในเรื่องของการฝึกเด็กเป็นทหารและการตัดอวัยวะของประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง (amputation of civilians) มีอาสาสมัครชาวแอฟริกันมาฝึกทำขาเทียมในประเทศไทยกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนีเพื่อไปทำขาเทียมช่วยผู้พิการในประเทศของเขา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นที่มาของคำว่า Blood Diamond จนเกิดการผลักดันอนุสัญญาของสหประชาชาติในการต่อต้านการค้าเพชรเถื่อน หรือเพชรสีเลือดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว และเป็นที่มาของ The Kimberley Process ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2003
The Kimberley Process เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2000 เมื่อประเทศผู้ผลิตเพชรในแอฟริกาใต้พบกันใน Kimberley ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ Northern Cape Province ประเทศแอฟริกาใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเป็นแหล่งผลิตเพชรคุณภาพสูงและมีหลุม ซึ่งเกิดจากการขุดเหมืองเพชรโดยฝีมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Big Hole ที่ขุดเพชรได้ถึง 2722 กิโลกรัม ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการหยุดการค้า Blood Diamond และวิธีตรวจสอบให้แน่ใจว่า เพชรที่ซื้อมาไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและเงินทุนของกลุ่มกบฏและพันธมิตรของเขา ที่ต้องการบ่อนทําลายรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย
องค์การสหประชาชาติและอีกหลายๆ องค์กรได้ร่วมมือกันเพื่อป้องกัน Blood Diamond เข้าสู่ตลาดโลก ด้วยการออกใบรับรอง Kimberly Process ให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเพื่อการันตีว่า เพชรที่ส่งออกได้มาจากเหมืองและธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ผู้ประกอบการที่มีใบรับรองเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้ แม้มีข้อวิจารณ์ในเบื้องต้นว่า Kimberly Process เป็นแค่ perfect cover story ของ Blood Diamond ยังมีจุดบกพร่องอีกหลายเรื่อง อาทิ เงื่อนไขการรับรองที่แคบเกินไป โดยมุ่งเน้นไปที่การขุดและการจำหน่ายเพชร Blood Diamond ยังไม่ครอบคลุมถึงการแสวงประโยชน์จากคนงาน สุขภาพและความปลอดภัยของสภาพการทำงาน การใช้แรงงานเด็ก การจ่ายเงินที่ยุติธรรม การจัดการกับประชากรที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านบรรพบุรุษเพื่อเปิดทางทำเหมือง และใบรับรองใช้กับเพชรดิบเป็นกลุ่ม ซึ่งจะถูกเจียระไนและจัดส่งไปทั่วโลก ใช้ไม่ได้กับเพชรแต่ละก้อน เป็นต้น แต่ก็เป็นความพยายามสร้างระบบจริยธรรมให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่และการซื้อขายอัญมณี
มีงานวิจัยของ Nina Engwicht ชื่อ After Blood Diamonds, The Moral Economy of Illegality in the Sierra Leonean Diamond Market พบว่า จากสภาพเศรษฐกิจสงคราม war economy ที่มีแต่ความรุนแรง ขัดแย้งและธุรกิจผิดกฎหมาย แต่หลังความขัดแย้งนั้น เศรษฐกิจผิดกฎหมายของเซียรา ลีโอน มีความเป็นธรรมขึ้นอย่างน่าประหลาดใจจนเรียกได้ว่า เป็น moral economy of illegality เนื่องจากตลาดเพชรถูกตีกรอบด้วยกติกาของสังคมอย่างกว้างขวางและชัดเจนเกี่ยวกับการกระทำถูกหรือผิดกฎหมาย และมีการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและตลาดที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสันติภาพ peace economy
ไม่ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเลวร้ายอย่างไร หากตั้งใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผลที่ได้รับจะดีขึ้นเสมอ
ซื้อเพชรเป็นของขวัญปีใหม่ซักชิ้นไหมคะ ...