นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จังหวัดลำพูนเป็นศูนย์กลางลำไยภาคเหนือและเป็นเมืองหลวงลำไยโลก มีพื้นที่ปลูกลำไยกว่า 250,000 ไร่ เป็นแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน จากสถานการณ์การผลิต ปี 2560 – 2564 เนื้อที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1,451,714 ไร่ ในปี 2560 เป็น 1,655,036 ไร่ ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 ต่อปี ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1,200,804 ตัน ในปี 2560 เป็น 1,437,740 ตัน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 ต่อปี และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 827 กิโลกรัมในปี 2560 เป็น 869 กิโลกรัม ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.004 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมสนับสนุนของรัฐบาล อย่างไรก็ตามเรายังเผชิญปัญหาราคาลำไยตกต่ำในบางปีบางฤดูเป็นปัญหาซ้ำซากตลอดมาจึงให้ดำเนินการโครงการประกันราคาลำไยขั้นต่ำบนความร่วมมือระหว่างภาคเกษตรกรและภาคเอกชนโดยการสนับสนุนของภาครัฐเป็นโมเดลใหม่เพื่อให้ทุกภาคส่วนเป็นหุ้นส่วนกัน (Partnership model) แบบ win-win ทุกฝ่าย เช่นที่กำลังดำเนินการกับอุตสาหกรรมกุ้งโดยบอร์ดกุ้ง ซึ่งภาคเอกชนตกลงกับเกษตรกรในการประกันราคาขั้นต่ำ โดยจะมีการประชุมภายใน 2 สัปดาห์ หากเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อไปจะขยายผลกับทุกกลุ่มสินค้าเกษตรต่อไป
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตลำไยในพื้นทีภาคเหนืออย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการรองรับผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดล่วงหน้าตามแนวทางการบริหารจัดหารผลผลิตลำไยปี 2565 เช่น โครงการกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต จังหวัดลำพูนโดย คพจ. ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเตรียมการรองรับการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและราคาผลผลิตตกต่ำ เป้าหมาย การสนับสนุนค่าบริหารจัดการกระจายผลผลิตลำไยออกนอกแหล่งผลิต การรับซื้อในราคานำตลาดตลอดจนแนวทางการบริการจัดการ ตั้งแต่ต้นทาง คือ เน้นตลาดนำการผลิต การลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพมาตรฐานเพิ่มผลิตภาพการผลิต การทำลำไยนอกฤดูการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนายกระดับมาตรฐานเน้นการใช้เทคโนโลยีแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้หลากหลายตามความต้องการของตลาด การซื้อขายล่วงหน้าระบบ Pre-order การบริการจัดการระบบขนส่งและเพิ่มระบบ Cold Chain Logistics พร้อมทั้งการขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ออฟไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ การสร้างระบบ Traceability และ QR code เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพสินค้า ตลอดจนแนวทางส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวสำคัญให้ภาคเกษตรไทยก้าวสู่มิติใหม่ โดยใช้โมเดล Fair Trade ลำไย การค้าที่เป็นธรรมเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนลำไยอย่างยั่งยืนโดยบูรณาการทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ร้านค้า โรงงานแปรรูป ล้ง และผู้ส่งออกนอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board)ได้แต่งตั้งคณะทำงานกลุ่มสินค้าลำไย (ลำไยบอร์ด) เพื่อดูแลลำไยเป็นการเฉพาะอีกด้วย