นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ไข่ไหมเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการเลี้ยงไหมของเกษตรกร โดยกรมหม่อนไหมมีภารกิจในการผลิตและบริการไข่ไหมพันธุ์ดีที่ปลอดโรคเพบริน บริการแก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไข่ไหมที่แจกจ่ายมี 3 ประเภทคือ เป็นพันธุ์ไทยลูกผสมพันธุ์ไทยพื้นบ้านชนิดลูกผสม และพันธุ์ไทยพื้นบ้านชนิดพันธุ์แท้ ปัจจุบันความต้องการไข่ไหมของเกษตรกร เฉลี่ยปีละ 200,000 – 300,000 แผ่น ซึ่งเกินความสามารถการผลิตไข่ไหมภายในศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ผลิตได้ประมาณ 130,000 แผ่น/ปี
เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีไข่ไหมพันธุ์ดีเพียงพอกับความต้องการ กรมหม่อนไหมจึงได้ดำเนินการให้มีการผลิตไข่ไหมแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่มีศักยภาพและมีความพร้อมช่วยเลี้ยงไหมพ่อแม่พันธุ์ ภายใต้การควบคุมดูแลของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ในพื้นที่การดำเนินการผลิตไข่ไหมแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม มีการดำเนินการวางแผนการผลิตไข่ไหมแบบปีต่อปี
โดยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่มีความสามารถในการเลี้ยงไหมพ่อแม่พันธุ์ขยาย พร้อมกับตรวจสอบความพร้อมของเกษตรกรในการเลี้ยงไหมแต่ละรุ่นเพื่อขออนุมัติอธิบดีกรมหม่อนไหมดำเนินการผลิตไข่ไหมแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม แล้วจึงทำสัญญาข้อตกลงการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตไข่ไหมกับเกษตรกรเจ้าหน้าที่จะติดตามการเลี้ยงไหมของเกษตรกรไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อรุ่น เพื่อควบคุมการเลี้ยงไหมให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัย และป้องกันช่องทางการนำโรคและแมลงเข้ามาภายในศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ
เมื่อเกษตรกรเลี้ยงไหมจนกระทั่งทำรังแล้ว ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ในพื้นที่จะรับซื้อรังไหมด้วยราคาอ้างอิงคุณภาพและปริมาณของรังไหม เพื่อนำรังไหมที่ได้จากเกษตรกรมาผลิตไข่ไหมภายในศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยนำมาปาดรัง คัดเพศดักแด้และจัดเก็บรักษาดักแด้ ผสมพันธุ์ผีเสื้อ วางไข่ ตรวจโรคเพบรินในแม่ผีเสื้อและบริหารจัดการไข่ไหมพันธุ์ดีเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรต่อไป