ที่ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญชบุรี ชั้น 7 เขตจตุจักร สำนักข่าว GANJA TV จัดให้มีการเสวนา หัวข้อ “25 มกรา ชี้ชะตากัญชาไทย” โดยมีภก.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองเเพทย์ทางเลือก กรมการเเพทย์เเผนไทยเเละการเเพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ร่วมเสวนา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระบบสมอง ดูแลผู้ป่วยหลายโรค หลายอาการ พบว่ายาแผนปัจจุบันยังตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีข้อจำกัดต้องใช้ยาหลายชนิด เกิดผลข้างเคียงมาก ทั้งยายังทำปฏิกิริยาด้วยกันเอง หากัญชาเข้าถึงครัวเรือน ชุมชน จะช่วยให้คนในชุมชนสามารถดูแลตนเองได้ เพียงแค่เรียนรู้วิธีใช้ในครัวเรือนเพื่อรักษาสุขภาพ ความเข้าใจผิดเรื่องการใช้กัญชาแล้วทำลายระบบสมอง ตับ หรือไต แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับวิธีการนำไปใช้เป็นยาให้ถูกต้อง
ภก.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานด้านการเก็บระบบข้อมูลสมุนไพรมาโดยตลอด กัญชา เป็นหนึ่งในสมุนไพร และเป็นวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่ในอดีตนำมาใช้เพื่อการรักษา หากปัจจุบันประโยชน์ของกัญชาช่วยเรื่องการรักษาในทางการแพทย์ ดังนั้น หากกัญชายังถูกกำหนดไว้เป็นสารเสพติด การนำมาใช้จะยากยิ่ง และไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะเมื่อมองเห็นว่า กัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่ง ที่ประชาชนสามารถปลูกเพื่อสร้างรายได้ ก็จะถูกปิดกั้นโอกาสสร้างรายได้ ข้อมูลที่มีมาก่อนหน้านี้ คือ โอกาสติดกัญชามีน้อยกว่าเหล้า บุหรี่ ดังนั้น หากต้องควบคุมก็ควบคุมเฉพาะส่วนที่มีสามารถนำไปสกัดเป็นสารเสพติดก็พอ
“ดิฉันรวบรวมตำรับการใช้กัญชาเพื่อรักษา มี 241 ตำรับ ใน 21 กลุ่มอาการ กระท่อมมี 75 ตำรับ ใช้ในโรคบิด โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับกำลัง เห็นได้ชัดว่าเกิดประโยชน์มากหากรู้จักวิธีใช้ เราควรนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาพัฒนา เช่นกรณีผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน ใช้กัญชาในการรักษา ช่วยลดความดัน ลดอาการต้อหินลงได้ หากเราสามารถฟื้นฟูองค์ความรู้ดั้งเดิม นำมาเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับการศึกษาสมัยใหม่ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้ง่ายขึ้น และเกิดนวัตกรรมใหม่ ราก ต้น ใบ ดอก ใช้ได้เกือบทุกส่วน ฉะนั้น หากเราปลดกัญชาออกจากยาเสพติดได้ เราจะเป็นมหาอำนาจด้านกัญชาในทุกเรื่อง เปรียบเสมือนแม็กเน็ตดึงให้คนทั้งโลกหันมาดูวิถีกัญชาของเรา โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นว่ามีเหตุผลอย่างไรที่จะไม่ปลดกัญชาออกจากยาเสพติด”
เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวอีกว่า หากพรุ่งนี้ (วันที่ 25 มกราคม) มีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดได้ จะทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากสมุนไพรชนิดหนึ่ง กระแสความต้องการของประชาชนไม่มีใครขวางได้ หากเราทำให้ความต้องการของประชาชนได้รับการตอบสนอง ก็จะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ และมองว่าเป็นทางออกทางเดียวที่ช่วยให้เกิดการคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม หากพรุ่งนี้ (25 มกราคม) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็เชื่อว่าจะต้องผ่านในสักวัน
ด้าน น.พ.เทวัญ แสดงความเห็นว่า ตั้งแต่เติบโตมามีญาติที่รู้จักทั้งฝ่ายพ่อและแม่ติดสารเสพติดที่เรียกว่า เฮโรอีน เสพเกินขนาดสุดท้ายก็เสียชีวิต ส่วนญาติอีกท่านเสพกัญชา ถึงปัจจุบันก็ยังมีชีวิตอยู่ เคยมีข้อมูลที่เทียบสารซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พบว่า กัญชา มีสารที่อันตรายร้ายแรงน้อยกว่าสารในเฮโรอีน เหล้า ยาสูบ เสียอีก หากจะกล่าวให้ถูกจุดก็คือ กัญชามีสาร THC ซึ่งให้ฤทธิ์ที่หลายคนกังวล และสารนี้มีที่ช่อดอก ฉะนั้นควรควบคุมเฉพาะส่วนในการนำไปใช้จะดีกว่า
ช่วงที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลว่าผู้ที่ติดเหล้า แล้วเหล้าถูกกำหนดห้ามขายช่วงโควิด-19 ระบาด พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเหล้าจำนวนหนึ่ง แต่กัญชาหากไม่เสพ จะเกิดอาการนอนไม่หลับ ปวดเนื้อปวดตัว เท่านั้น ไม่ถึงกับตาย ในอดีตมีตำรับยาแผนไทยแผนหนึ่งใช้สำหรับเลิกฝิ่น วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบตำรับยาแผนนี้ คือ กัญชาและกระท่อมอย่างละครึ่ง จึงมองกัญชาและกระท่อมในมุมของการรักษาที่ให้ผลดีมากกว่าผลเสีย หากต้องการควบคุมควรคุมเฉพาะส่วนที่มีสารเท่านั้น ไม่ควรควบคุมทั้งต้น เพื่อให้ประชาชนได้ปลูกไว้ดูแลตนเอง ยกเว้นกรณีผู้ที่ต้องการปลูกเชิงพาณิชย์ ควรให้ขออนุญาตเพื่อควบคุมการผลิต
สำหรับนายศุภชัย ระบุว่า มั่นใจว่านโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่หารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา เรื่องการให้ประชาชนได้ประโยชน์จากกัญชา นำไปใช้ในทางการแพทย์ และเป็นพืชเศรษฐกิจ จะสามารถสำเร็จได้ และมั่นใจว่าจะสำเร็จครบถ้วนภายในรัฐสภาชุดนี้ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดขณะนั้น ไม่มีคำว่ากัญชากำหนดอยู่ด้วย หมายความว่า กัญชา ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่
“การเสนอให้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดนี้ ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย เพราะพรรคภูมิใจไทย มองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เริ่มศึกษาอย่างครอบคลุมเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งเราจะแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มครัวเรือนไม่ต้องขออนุญาต เพียงแค่แจ้งผู้นำชุมชน หัวหน้าหมู่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าเราปลูก ที่ไหน อย่างไร เป็นลักษณะของการจดแจ้งก็พอ ส่วนกลุ่มที่ต้องการปลูกเชิงพาณิชย์ชัดเจนว่า ต้องขออนุญาตปลูก”
นายศุภชัย ระบุด้วยว่า ตนมั่นใจว่านายกรัฐมนตรี ไม่เปลี่ยนความคิด ส่วนรัฐมนตรีที่กำกับดูแลป.ป.ส. หากเห็นว่า กฎหมายระหว่างประเทศมีความสำคัญกว่ากฎหมายของประเทศไทย ขอให้กลับไปคิดใหม่ ควรยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด เพียงแต่ต้องควบคุมดูแลโดยพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ......ที่เสนอ เท่านั้น