นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลสำนักการระบายน้ำ เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนกรณีจะเกิดภาวะน้ำทะเลขึ้นเต็มที่ ในช่วงวันที่ 14 – 18 กุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ +1.40 ม.รทก. (เมตร/ระดับน้ำทะเลปานกลาง) แล้ว
ส่วนที่แจ้งเตือนว่า จะส่งผลให้ในช่วงดังกล่าวนี้เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง และมีการคาดกันว่าจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ รวมทั้งเกิดน้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยานั้น
กทม.ได้สั่งสำนักระบายน้ำเฝ้าระวังการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทุกประตูแล้ว หากพบว่าปริมาณน้ำทะเลที่หนุนสูงมามากกว่าปกติ ก็จะสั่งให้ปิดประตูชั่วคราวไปก่อน รวมถึงประสานกับกรมชลประทาน เพื่อติดตามสถานการณ์การปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาด้วย
ทั้งนี้ สำนักระบายน้ำ กทม.ได้ประเมินสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงครั้งนี้มีความแตกต่างกับสถานการณ์ในช่วงปลายปี 2564 ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยในครั้งนั้น เป็นน้ำทะเลหนุนสูงมากจนท่วมผนังกั้นน้ำในหลายพื้นที่ แต่ครั้งนี้เป็นน้ำทะเลหนุนในลักษณะผันเข้ามาลึก คือ ขณะนี้มีปริมาณในแม่น้ำเจ้าพระยาน้อย และกระแสน้ำทะเลที่จะไหลมาเป็นไหลแบบลึก ไม่ได้พามวลน้ำมาก ๆ เข้ามาแบบครั้งก่อน ประกอบกับ กรมชลประทานรายงานมาว่า เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะปล่อยลงมาน้อย เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง (มีนาคม – เมษายน 2565) ต้องมีการกักเก็บน้ำบางส่วนให้เกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ใช้ในช่วงดังกล่าวด้วย
ดังนั้น พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจึงจะอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก ซึ่งครั้งนี้น้ำทะเลบางส่วนจะไหลเลยเขตกทม.ขึ้นไปถึงจ.นนทบุรี และปทุมธานีด้วย แต่จะมีปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่กระทบถึงระบบการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน เพราะกระแสน้ำไม่ได้เข้าลึกถึงในเมืองที่มีการทำคลองประปาไว้
ส่วนเกษตรกรในพื้นที่กทม. เช่น บางขุนเทียน บางบอน บางแค ที่ปลูกกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก คาดว่าน้ำทะเลหนุนครั้งนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะคลองที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นี้ ได้แก่ คลองขุนราชพินิจใจ, คลองคลองมหาชัย และคลองบางบอน ไม่ได้รับผลกระทบ ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่มีระบบป้องกันตัวเองที่ดีมากอยู่แล้ว โดยมีการทำบ่อพักน้ำหลายบ่อรองรับไว้
ส่วนเขตทุ่งครุที่มีการเลี้ยงปลาน้ำจืด เช่น ปลานิลและปลาตะเพียน ครั้งนี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะไม่ได้อยู่ในแนวที่แม่น้ำเจ้าพระยาพาดผ่าน
นอกจากนี้ พื้นที่ที่มีการทำนา บริเวณเขตคลองสามวา มีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง ก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะอยู่บริเวณโซนตะวันออกสุดของ กทม. มีคลองสาขาคือ คลองพระยาสุเรนทร์, คลองสามวา, และคลองหากวา เป็นคลองสายหลักในพื้นที่ แม้จะรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เนื่องจากอยู่ไกลออกไปมาก กว่าน้ำทะเลจะมาถึงก็เจือจางลงไปมากแล้ว ประกอบในพื้นที่มีการทำฝายชะลอน้ำ จึงไม่มีอะไรน่ากังวล