น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดหาเวชภัณฑ์ยา และขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเม.ย. 64 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
โดยมีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาจากยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ตามโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ฯ 50,000 โดส เป็นยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จำนวน 17,065,457 เม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) จำนวน 5,166 ขวด (Vial)
ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (CPG COVID-19) กำหนดให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ทั้งที่ไม่มีอาการปอดอักเสบหรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย โดยมีอัตราการใช้ยา 87% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด และสำหรับยาเรมเดซิเวียร์ ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีข้อห้ามในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีอัตราการใช้ยา 2% ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ได้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ และขยายระยะเวลาการดำเนินการตามโครงการ จากเดิมระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 64 เป็น ต.ค. 64-ก.ย. 65
"กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีความต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องสำรองยาดังกล่าว ไว้ให้เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย รวมถึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ ปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการ เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดหาเวชภัณฑ์ยา เพื่อดูแลประชาชนได้ตามแผนงานและสอดคล้องกับเวชปฏิบัติในปัจจุบัน" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
สำหรับความเป็นมาของโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระยะการระบาดระลอกเม.ย. 64 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 64 โดยตามรายละเอียดโครงการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 528.4 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประกอบด้วยจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวนเงิน 500 ล้านบาท และค่าครุภัณฑ์รายการระบบหมอพร้อม จำนวนเงิน 28.4 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ต.ค.-ธ.ค. 64 แต่ต่อมา แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันโควิด-19 ได้เป็นแปลงไปตามสถานการณ์ของโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวมาข้างต้น