ทั้งนี้ มาตรการเฉพาะหน้าระยะสั้นรับมือปัญหาได้เพียงชั่วคราว ต้องเน้นไปที่มาตราการแก้ปัญหาเชิงระบบ เช่นต้องดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมให้มากที่สุดเพื่อให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึงถ้วนหน้า ส่วนเรื่องพลังงานก็ต้องลงทุนพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานและน้ำมันนำเข้าลง มียุทธศาสตร์ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ชัดเจน ไฟฟ้าต้องเปิดให้มีการแข่งขันเสรี จะได้ดึงราคาลงมาได้
ส่วนราคา NGV และ ราคาน้ำมันดีเซลถึงที่สุดแล้ว อุ้มไม่ไหวต้องปล่อยลอยตัว เพราะอุ้มหรืออุดหนุนแล้วฝืนจะสร้างปัญหามากกว่า จะตามมาด้วยวิกฤติทางการคลังต่อไป
ส่วนอีก 2 มาตรา มาตราที่ 9 และมาตราที่ 10 เป็นการลดภาระการจ่ายสมทบของผู้ประกันตนและผู้ประกอบการซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะความมั่นคงทางการเงินของกองทุนในอนาคตได้ รัฐบาลไม่ควรใช้มาตราในลักษณะนี้บ่อย ตอนล็อกดาวน์โควิดก็ใช้มาตรานี้ เหมือนไปล้วงเงินอนาคตของนายจ้างลูกจ้าง ทั้งที่เงินส่วนนี้ควรจะสบทบสำหรับสวัสดิการในอนาคตของผู้ประกันตน
หากรัฐบาลเดินหน้าใช้มาตรการลดการจ่ายสมทบ รัฐบาลควรต้องจัดสรรงบประมาณชดเชยเท่ากับเงินสมทบที่ลดลง ยืนยันว่า หากยังใช้วิธีการลดการจ่ายสบทบเช่นนี้จะกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของกองทุนชราภาพแน่นอน จะทำให้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยของไทยมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก
หากจะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มควรต้องมุ่งไปที่การออกมาตรการลดความเสี่ยง สร้างงาน สร้างรายได้ ขยายโอกาสเพิ่ม มาตรการลดความเสี่ยงในบางลักษณะไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ เพียงแค่เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบางอย่าง เพียงแค่เปิดเสรี ลดอำนาจผูกขาด ขยายเพดานโค้วต้าการนำเข้า ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งแล้ว อย่างเช่น ราคาปุ๋ย ราคาพลังงาน ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆ วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ เปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้เพียงพอต่อภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาคผลิต ไม่ใช่ปล่อยให้มีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วยการจ่ายค่าหัวคิวติดสินบนเจ้าหน้าที่