“บ้านสบขุ่น” เป็นหมู่บ้านหนึ่ง ที่อยู่บนที่ราบสูง หรือบนภูเขามานาน อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองราว 80 กิโลเมตร มีการทำเกษตรกรรมแบบพออยู่พอกิน แต่หลังจากกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามา โลกเปลี่ยนไป 10 ปีให้หลัง จึงปรากฎภาพเป็นเขาหัวโล้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการทำพืชเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดบนดอย และยังมีความซับซ้อนเรื่องสิทธิที่ดินทำกินอีกด้วย ต่อมาปี 2558 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เข้ามาเพื่อลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ โดยหาพืชตัวอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า ให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องขยายพื้นที่เพิ่ม จึงเป็นจุดเริ่มต้น”สบขุ่นโมเดล”
เป็นการศึกษาร่วมมือ กับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ที่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ป่าไม่ถูกบุกรุกเพิ่ม และฟื้นฟูพื้นที่ป่ากลับมา โดยนำแนวคิดโมเดล “สร้างป่า สร้างรายได้” ตามแนวทางพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพให้ปลูกไม้ป่าควบคู่ไม้เศรษฐกิจ เพื่อรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ถูกทำลาย พร้อมสร้างจิตสำนึกในการฟื้นฟูป่าในที่ทำกิน โดยส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก คือ กาแฟ พันธุ์อราบิก้าเชียงใหม่ 80
รายงานข่าวแจ้งว่า การสานเสวนาครั้งนี้ เพื่อถอดบทเรียนสบขุ่นโมเดล โดยการศึกษาวิเคราะห์บริบท ปัจจัยของความสำเร็จสบขุ่นโมเดล มีความสำเร็จคืบหน้าในระดับใด รวมถึงการจัดการความขัดแย้งในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต คณุภาพด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ รวมทั้งยังแสวงหาข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ กับโมเดลในพื้นที่ อาทิ น้ำพางโมเดล และNan Sandbox และยังศึกษาข้อมูลจากเครือข่าย มูลนิธิฮักเมืองน่าน-รักษ์ป่าน่าน อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่จ.น่าน ของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากจัดการสานเสนาแล้ว ยังจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม มอบทุนการศึกษา อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การเรียน ขนมขบเคี้ยว หน้ากากอนามัย ให้แก่เด็กนักเรียนบ้านสบขุ่นด้วย น กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่