นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นางสาวราภรณ์ พงศ์พนิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงข่าวเปิดโครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี และได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใช้ชื่อว่า “ศูนย์พึ่งได้” (One Stop crisis center หรือ OSCC) ปัจจุบันมี 10,611 แห่ง ให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีรวม 247,480 ราย โดยทีมสหวิชาชีพแบบครบวงจร ทั้งด้านสุขภาพกาย จิตใจ สังคม กฎหมาย การฟื้นฟู ตลอดจนการคืนสู่สังคม ซึ่งกระบวนการดำเนินงานต้องทำด้วยความละเอียดอ่อน ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะหลายด้าน รวมถึงต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานเครือข่ายภายนอกกระทรวง เช่น กระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรทางสังคม
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE Foundation – Fight Against Child Exploitation) จัดโครงการฯ เพื่อพัฒนารูปแบบและเพิ่มช่องการการเรียนรู้ ฝึกทักษะ และรับการปรึกษาผ่านเว็บไซต์ https://oscc.consulting ให้แก่บุคลากรผู้รับผิดชอบงานศูนย์พึ่งได้ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคสังคม รวมถึงช่องทางระบบออนไลน์ต่างๆ ที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ เฟซบุ๊ค เว็บไซต์ ประชุมออนไลน์ e-learning เป็นต้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะในการทำงานเชิงลึก การปรับทัศนคติ โดยสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมในระหว่างการปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา รวมถึงยังได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญในการจัดการปัญหาความเครียด ความกังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านคุ้มครองเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น