นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 และเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2565 พร้อมด้วยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และนางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา โดยระบุว่า การบริหารน้ำในฤดูแล้ง 2564/65 ที่ผ่านมา กรมชลฯได้ปฏิบัติตามตามมาตรการรองรับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำฤดูแล้งทั้ง 8 มาตรการอย่างครบถ้วน ได้จัดสรรน้ำสนับสนุนครบทุกกิจกรรม รวม 22,998 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากแผน 22,280 ล้าน ลบ.ม. เกินแผน 700 ล้าน ลบ.ม. ผลการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 8.11 ล้านไร่ (แผน 6.41 ล้านไร่) ผลจากการจัดสรร น้ำอุปโภค-บริโภคไม่ขาดแคลน น้ำรักษาระบบนิเวศมีเพียงพอ โดยเฉพาะภาคการเกษตร เกษตรกรได้ทำการเกษตรฤดูแล้งสร้างรายได้ ถึงแม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มจากแผนถึง 1.7 ล้านไร่ และที่สำคัญคือผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งมีปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน 19,950 ล้าน ลบ.ม.มากกว่าแผนที่ตั้งไว้ถึง 4,000 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งหมดเป็นผลจากการบริหารจัดการโดยใช้ระบบชลประทานที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ การสร้างการรับรู้กับประชาชนต่อเนื่องในการประหยัดน้ำและสนับสนุนการทำนาเปียกสลับแห้ง ในส่วนของมาตรการการช่วยเหลือ กรมชลฯ ได้ดำเนินการโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งโดยมีการจ้างงานไปแล้ว 74,904 คน (99.8%) จากเป้าหมาย 75,000 คน ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน 65 ได้ย้ำว่าน้ำที่ใช้สนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญจะต้องบริหารอย่างรัดกุม เป้าหมายต้องเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ในการบริหารจัดการน้ำฯ ให้กรมชลฯยึด 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่ ครม.เห็นชอบเมื่อ 3 พ.ค. 65 เป็นแนวทางการดำเนินงาน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารน้ำในฤดูฝน 2565 ปัจจุบัน ณ 1 พ.ค.65 มีน้ำใช้การได้ทั้งสิ้น 19,755 ล้าน ลบ.ม. กรมได้วางแผนจัดสรรในกิจกรรมต่างๆทั้งประเทศประกอบด้วย 1. การอุปโภค-บริโภค 2,329 ล้านลบ.ม. (7%) 2.การรักษาระบบนิเวศ 6,850 ล้านลบ.ม. (25%) 3.การเกษตร 22,068 ล้านลบ.ม.(69%) 4.การอุตสาหกรรม 508 ล้านลบ.ม.(2%) คาดการณ์จะมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 27.63 ล้านไร่ ลุ่มเจ้าพระยา 10.57 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 2.24 ล้านไร่ ในช่วงฤดูฝนนี้ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำโดยส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์
นอกจากการ ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 แล้ว กรมได้เตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย โดยมีการกำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง และได้สั่งการให้กระจายเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ไปประจำที่ศูนย์บริหารเครื่องจักรกลที่ 1-7 เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันท่วงที รวมถึงได้กำชับให้ทุกพื้นที่ติดตามการคาดการณ์พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง.