กรมป่าไม้ ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง โครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2558 โดยป่าชุมชนบ้านต่อแพ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนป่าชุมชนโนนใหญ่ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ คว้ารางวัล “เยาวชนคนรักษ์ป่า” ซึ่งเป็นรางวัลเฉพาะด้านในปีนี้ พิธีมอบรางวัลได้รับเกียรติจาก ท่านองคมนตรี นายอำพล เสนาณรงค์ เป็นประธาน
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินการด้านป่าชุมชน ได้มีการขยายและเพิ่มโอกาสให้ชุมชนร่วมจัดตั้งป่าชุมชนมากยิ่งขึ้น ดังเห็นได้จาก ปัจจุบันมีการจัดตั้งป่าชุมชน จำนวน 9,470 หมู่บ้าน รวมพื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 4,067,128 ไร่ และเมื่อเทียบข้อมูลการจัดตั้งป่าชุมชนที่ผ่านมาในอดีต เทียบกับปี พ.ศ.2551 ถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งป่าชุมชน เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ กล่าวคือ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งมากกว่า จำนวน 3,534 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 1,956,549 ไร่ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ตามโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา
ด้านนายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และกรมป่าไม้ซึ่งได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 และถือเป็นโครงการหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของบริษัทฯ ซึ่งตอบสนองเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด คนอยู่ดี ธรรมชาติอยู่ได้ ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมอย่างเกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรมชาติ
โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และที่สำคัญคือเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี การดำเนินงานโครงการในปี 2558 ที่ผ่านมา นับได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจยิ่ง ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือป่าชุมชนจดทะเบียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการของเรามีจำนวนถึง 1,204 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มาเป็นอย่างมาก แสดงถึงความตระหนักและตื่นตัวในเรื่องการดูแลรักษาป่าไม้ของชุมชน สามารถขยายผลเพื่อให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจแนวคิดของป่าชุมชนมากขึ้น เกิดความตระหนักในความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ผลการประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2558 มีป่าชุมชนที่ได้รับรางวัล รวม 137 ป่าชุมชน ดังนี้ รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ 2558 ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านต่อแพ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ป้ายประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน 200,000 บาท รางวัลป่าชุมชนรองชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ 2558 ได้แก่ ป่าชุมชนสวนสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ หมู่ที่ 2,3,5,7 ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ป่าชุมชนบ้านตะเกราทอง หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านแลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และ ป่าชุมชนบ้านหัวบึง หมู่ที่ 9 ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น รับถ้วยรางวัล และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน รางวัลละ 100,000 บาท
รางวัลป่าชุมชนดีเด่นด้าน เยาวชนคนรักษ์ป่า ประจำปี 2558 ได้แก่ ป่าชุมชนโนนใหญ่ หมู่ที่ 3 ตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ รับถ้วยรางวัล และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ ป่าชุมชนดีเด่นด้าน เยาวชนคนรักษ์ป่า ประจำปี 2558 ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านปางงุ้น หมู่ 6 ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ป่าชุมชนบ้านพุตูม หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยลึก อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี และ ป่าชุมชนบ้านต้นตาล หมู่ที่ 2 ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส รับถ้วยรางวัล และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน 25,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด จำนวน 65 รางวัล จะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชนแห่งละ 25,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 64 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินกองทุนการอนุรักษ์ป่าชุมชนแห่งละ 10,000 บาท
ภายใต้โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของชุมชนเพื่อสร้างความพร้อมในการดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การจัดสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน ปีละ 2 ครั้ง และการจัดค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ปีละ 2 ครั้ง โดยจะจัดหมุนเวียนไปในแต่ละภาค เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สำหรับปีนี้ ได้จัดสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจัดค่ายเยาวชนกล้ายิ้มภาคเหนือและภาคกลาง