ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านจำหน่ายข้าวหลามบริเวณหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ หลังจากนักท่องเที่ยวโพสข้อความซื้อข้าวหลาม แต่พบว่าเป็นของเก่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าจากภายนอกเข้ามาจำหน่าย เนื่องจากไม่มีฉลากและชื่อร้านที่ชัดเจน ซึ่งจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบ
จากกรณีมีนักท่องเที่ยว โดยสารรถไฟขบวนนำเที่ยวจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ระหว่างทางได้แวะซื้ออาหารของฝากที่จังหวัดนครปฐม หนึ่งในนั้นคือข้าวหลาม โดยโพสข้อความว่า “สถานีนครปฐม รถไฟจอดให้ 40 นาที ตุนเสบียงไปกินบนรถไฟ หนึ่งในเสบียงคือข้าวหลาม เพราะเป็นของฝากขึ้นชื่อ ร้านเป็นแผงขายริมทางเดิน คนขายรู้ว่าเรามากับรถไฟ จัดการทุบกระบอกให้เรียบร้อย ผมซื้อ 5 กระบอก มากัน 5 คน แต่จากข้าวหลาม 5 กระบอกนั้น เป็นข้าวหลามเก่าเก็บ 3 กระบอก หน้าและเนื้อข้าวหลามแห้งจนแข็ง คนขายคงรู้ ว่าเราจะไม่กลับมาที่ร้าน ผมก็กินแหละ เพราะเป็นคนไม่ทิ้งอาหาร แต่ข้าวหลาม 3 กระบอก มูลค่า 60 บาทนี้ มีราคาเท่ากับข้าวหลามนครปฐมทั้งจังหวัด ไฟที่เผาข้าวหลาม ก็เผาบ้านตัวเองได้เช่นกัน” หลังจากโพสได้ถูกแชร์ไปยังช่องทางต่างๆ มีชาวจังหวัดนครปฐมเข้ามาแสดงความคิดเห็นและกล่าวขอโทษกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกรณีดังกล่าว ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของจังหวัดนครปฐมเป็นอย่างมาก
ล่าสุดในวันนี้ (18 พ.ค. 2565) นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานพาณิชย์ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานประชาสัมพันธ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านจำหน่ายข้าวหลาม บริเวณซอยกลางหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ ไปจนถึงสถานีรถไฟนครปฐม จากการสอบถามพนักงานสถานีรถไฟ ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2565 รถไฟขบวนนำเที่ยวจากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างทางได้หยุดพักที่สถานีนครปฐม ประมาณ 40 นาที เพื่อให้นักท่องเที่ยวนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และซื้อสินค้า/ของฝากที่ตลาด นำขึ้นไปรับประทานบนรถไฟ ในส่วนของสถานีจะไม่มีการอนุญาตให้พ่อค้าแม่ค้าทั่วไปเข้ามาจำหน่ายสินค้า เนื่องจากเป็นระบบประมูล คาดว่านักท่องเที่ยวซื้อข้าวหลามมาจากตลาดบริเวณหน้าองค์พระปฐมเจดีย์
นาวสาววิชญศากรณ์ วีระพันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จากการตรวจสอบร้านจำหน่ายข้าวหลามบริเวณซอยกลางหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ พบว่ามีร้านที่ตั้งจำหน่ายข้าวหลามเป็นประจำทุกวัน จำนวน 4 ร้าน พร้อมติดฉลากชื่อร้านที่กระบอกข้าวหลามอย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นร้านที่มีชื่อเสียงยาวนาน และจำหน่ายหมดทุกวัน จากการสอบถามนางโชติกา รอดบางยาง เจ้าของร้านข้าวหลามแม่เล็ก รอดบางยาง ในกรณีที่จำหน่ายไม่หมด จะแจกให้กับประชาชน ไม่มีการนำของเก่ามาจำหน่ายอย่างแน่นอน ส่วนนักท่องเที่ยวซื้อข้าวหลามแล้วพบว่าเป็นของเก่านั้น คาดว่าน่าจะซื้อจากพ่อค้าแม่ค้าภายนอก ซึ่งมีร้านมอเตอร์ไซค์หาบเร่เข้ามาจำหน่าย โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด
ด้านว่าที่ร้อยตรี ศรายุธ สิมะดำรง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จากการตรวจสอบร้านข้าวหลามที่จำหน่ายประจำ จะพบว่ามีฉลากชื่อร้านที่กระบอกข้าวหลามอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าซื้อมาจากร้านใด ส่วนกรณีที่นักท่องเที่ยวโพสลงเฟสบุ๊ค ไม่มีการติดฉลากชื่อร้านที่กระบอกข้าวหลาม จึงไม่สามารถตรวจสอบร้านที่จำหน่ายได้ในเบื้องต้น ในส่วนของจังหวัดนครปฐมมีชมรมผู้จำหน่ายข้าวหลาม อีกทั้งสมาชิกในชมรมผ่านการอบรมเกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหาร การรับรองคุณภาพอาหาร และการตรวจสอบจากสำนักงานสาธารณสุข ทั้งนี้ หากเป็นร้านภายนอกที่เข้ามาจำหน่ายในช่วงวันหยุด ทางสำนักงานสาธารณสุขจะได้ดำเนินการปรับปรุงและตรวจสอบต่อไป
ทั้งนี้ นางลัทยา บุญลือ ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครปฐม ได้ให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อของฝากที่ดี ควรเลือกซื้อจากร้านที่มีการติดป้ายแสดงราคา มีฉลากแสดงชื่อร้านที่ชัดเจนว่ามาจากผู้ผลิตรายใด ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ทีมข่าวนครปฐม