ทั้งนี้ การว่างงานในกลุ่มเด็กจบใหม่ของไทยยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก 1.ตำแหน่งงานว่างไม่สอดคล้องกับทักษะ/วุฒิการศึกษา/ค่านิยมของเด็กจบใหม่ โดยความต้องการแรงงานส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคเป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐาน อาทิ แรงงานทั่วไป และเน้นวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ขณะที่บางบริษัทขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อาทิ โปรแกรมเมอร์ Data แต่ผู้สำเร็จการศึกษา อยู่ในกลุ่มการบริหารธุรกิจและกฎหมาย วิศวกรรม อุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เป็นต้น รวมทั้งเด็กจบใหม่บางส่วนนิยมประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 4.6 หมื่นคน ในปี 2562 เป็น 5.6 หมื่นคน ในปี 2564
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับกระบวนการทำงาน โดยลดการพึ่งพาการใช้คน และลงทุนในเทคโนโลยี/ดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น การว่างงานของเด็กจบใหม่นับเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะการเกิดช่องว่างของทักษะการทำงาน (skilled gap) หากคนกลุ่มนี้ว่างงานยาวนาน 2-3 ปี จะยิ่งส่งผลให้เข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น ประกอบกับยังมีกลุ่มเด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานราวอีก 4-5 แสนคนในแต่ละปี ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตยิ่งน่ากังวลมากขึ้น
“5 แสนคน คือ จำนวนเด็กจบใหม่ในทุกๆ ปี และยังมีแนวโน้มจบจากสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด หากเด็กกลุ่มนี้ว่างงานต่อเนื่อง จะก่อให้เกิด skill gap ซึ่งอาจส่งผลให้แข่งขันในตลาดแรงงานได้ยากขึ้น ดังนั้น การเสริมสร้างทักษะให้เด็กจบใหม่ว่างงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่การวางแผนแรงงานและการสร้างงานเป็นสิ่งจำเป็น”
ธปท. ระบุว่า การระบาดของ COVID-19 กระทบต่อตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ โดยจำนวนเด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปี 2564 ที่มีจำนวนถึง 2.9 แสนคน โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานแล้ว พบว่า กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงถึง 7.2% โดยมากกว่าอัตราการว่างงานของแรงงานทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 1.6% นอกจากนี้ จากข้อมูล Google trend ยังพบว่า ความสนใจในการค้นหางานของเด็กจบใหม่ซึ่งยังไม่สามารถหางานทำได้หรือตกงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก
ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการแก้ปัญหาการว่างงานในกลุ่มเด็กจบใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาคุณภาพแรงงานและการจัดหางาน โดยระยะต่อไป การว่างงานของเด็กจบใหม่จะยังคงเป็นประเด็นของตลาดแรงงานไทยไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งภาครัฐได้เตรียมรับมือโดยมีมาตรการระยะยาว อย่างการผลักดันการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC และขยายผลโครงการ E-Workforce Ecosystem