นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อน การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกว่า 40 แห่งเข้าร่วม ผ่านระบบออนไลน์ ว่า สืบเนื่องจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผ่านมา ไม่มีแผน ไม่มีคณะกรรมการที่รับผิดชอบโดยตรง ในปี 2564 ที่ผ่านมา จึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมี ปลัด พม.เป็นประธาน
และมีการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคล ในครอบครัว พ.ศ.2566-2570 ภายในประกอบด้วยแผน 5 พี ได้แก่ นโยบาย (Policy) ป้องกัน (Prevention) คุ้มครอง (Protection) ดำเนินคดี (Prosecution) และหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบนั้น จึงจัดประชุมนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผน ก่อนนำเสนอแผนให้คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ ซึ่งมี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาต่อไป
อธิบดี สค. กล่าวอีกว่า อย่างเรื่องการดำเนินคดี จะพบว่ามีคดีความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้น แต่คดีพอถึงศาลกลับน้อย เพราะมีการยอมความในชั้นพนักงานสอบสวน ด้วยเหตุนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.จึงมีหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ถึงปัญหาดังกล่าว และขอให้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงความละเอียดอ่อนในคดีนี้
รวมถึงขอให้เพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง ซึ่งนายกฯ ได้มีข้อสั่งการออกมา จึงเป็นที่มาว่าจากนี้ สค.กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะมีการทำงานใกล้ชิดขึ้น อย่างการออกแบบหลักสูตรอบรมตำรวจ ให้มีความเข้าใจมิติครอบครัว กฎหมายที่้กี่ยวข้อง เข้าใจผู้เสียหาย และไม่มองเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องสามีภรรยา สมมุติมีเคสเข้ามาจะต้องคุ้มครองผู้เสียหาย รับฟังความต้องการ เสริมพลัง ส่วนตัวผู้กระทำให้แยกจากกัน สั่งปรับพฤติกรรม ทำข้อตกลงไม่กระทำซ้ำ ซึ่งเหล่านี้เราจะทำร่วมกับทีมสหวิชาชีพใกล้ชิดขึ้นเช่นกัน