หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินมีสัญญาณเริ่มฟื้นตัว ซึ่งในอนาคตการเติบโตส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินโลก จะมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก แต่อุตสาหกรรมการบินยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถเริ่มได้เลย คือ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่สามารถผสมเข้ากับน้ำมันอากาศยาน และสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบเดียวกันกับที่ใช้ผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล และยังเป็นมาตรการหลักที่ทั้งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ให้การสนับสนุน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050
“ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความเป็นผู้นำในการผลิตเอทานอลรายใหญ่ในเอเชียของกลุ่มมิตรผล และศักยภาพของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพในภาคการเกษตรของไทย ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมการบิน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ของภูมิภาคต่อไป ไม่ใช่เพียงแค่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบิน และภาคการเกษตร แต่เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มโลกใบนี้ สู่ความยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์กล่าว
สำหรับ การผนึกกำลังครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ เนื่องจากมิตรผล เป็นผู้นำในการพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนมานานกว่า 18 ปี จากการพัฒนาสู่ผู้ผลิตไฟฟ้า ชีวมวล จึงเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม การวิจัย และเทคโนโลยี สามารถต่อยอดผลผลิตจากภาคเกษตรสู่หลากหลายธุรกิจ เช่น จากน้ำตาล สู่ธุรกิจพลังงานทดแทน (ไฟฟ้าชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ เอทานอล) ธุรกิจปุ๋ย ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ และธุรกิจไบโอเบส ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมไปถึงธุรกิจไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เพราะเป็นการผลิตไฟฟ้าชีวมวล จากชานอ้อย ใบอ้อย และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อีกทั้งการบริหารจัดการไร่อ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นบนหลักของความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ไปจนถึงเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ หรือ Bio-jet Fuel ได้
ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในเรื่องการใช้พลังงานทดแทน ต่อยอด การพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตพลอยได้จากภาคเกษตรหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทาง Zero Waste กลุ่มมิตรผลจึงได้พัฒนาธุรกิจเอทานอล ในชื่อ บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด เพื่อผลิตแปรรูป และพัฒนาวัตถุดิบจากอ้อยให้เป็นน้ำมันเอทานอลที่มีคุณภาพ โดยนำเอาโมลาส หรือกากน้ำตาลที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลและน้ำอ้อยมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ที่ความบริสุทธิ์ 99.5% ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มมิตรผล มีโรงงานผลิตเอทานอลทั้งหมด 5 แห่ง มีกำลังผลิตรวมประมาณ 1.5 ล้านลิตร ต่อวัน หรือ 500 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน
นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ธุรกิจเอทานอลในกลุ่มมิตรผล พร้อมที่จะยกระดับการพัฒนา การผลิตเอทานอลจากอ้อยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมการบินขนาดใหญ่ ด้วยแผนการรับรองเอทานอลอย่างยั่งยืนตามมาตรการ CORSIA -Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation หรือแผนการลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนสำหรับธุรกิจการบินที่กำหนดขึ้นโดย ICAO เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ที่นานาประเทศทั่วโลกกำหนดไว้ในปี ค.ศ.2050 รวมถึงกลุ่มมิตรผล
นายวีระเจตน์ กล่าวว่า จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มมิตรผลมีความพร้อมในการร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ที่จะพัฒนาและดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน BAFS เป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบินอากาศยานแก่สายการบินอันดับหนึ่งของประเทศไทยและมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาและผลักดันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Bio-jet Fuel) ในอุตสาหกรรมการบิน เชื่อมั่นว่า ความเชี่ยวชาญของทั้งสองบริษัทจะเป็นเครื่องมือทำให้เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจริงได้
“เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย Mitr Phol Bio Fuel และ BAFS จะร่วมกันทำการศึกษาความเป็นไปได้ ในด้านของเทคโนโลยี การผลิต การตลาด กฎระเบียบและมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้องกับ Bio Jet เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตและใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับภาคเกษตร อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน ” นายวีระเจตน์ กล่าว
นับเป็นก้าวสำคัญจาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ในการขับเคลื่อนเพื่อช่วยทำให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอุตสาหกรรมการบิน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการบิน และเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญให้เป้าหมายที่ IATA ตั้งเป้า Fly Net Zero เอาไว้ในปี ค.ศ. 2050 กลายเป็นจริง