ทส.-วช. บันทึกข้อตกลงขยายความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาวิจัยในประเด็นการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศและขยะ เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษประเทศไทย มีระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อย 5 ปี โดย วช. ให้การสนับสนุนงบประมาณ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากปัญหามลพิษทางอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดย คพ. มีความร่วมมือกันในการผลักดันการใช้ประโยชน์จากการศึกษาวิจัยเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 คพ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิจัยในประเทศไทย จัดทำโครงการวิจัยต่างๆ เพื่อการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในปีนี้ เราตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการเพื่อติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมทางน้ำ อากาศ และขยะ สำหรับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม จึงได้ตกลงขยายขอบเขตบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมประเด็นการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และขยะ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันในการสนับสนุนการดำเนินงานแผนงานวิจัยด้านการพัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างบูรณาการ เชื่อมโยงผลผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการวิจัยเชิงรุก ด้วยการประชุมระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำสู่การกำหนดแผนงานวิจัยตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ตามความต้องการ และใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง วช. กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งมีการต่อยอด ขยายผลกับหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบถึงแนวทางการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนําผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม
ในวันเดียวกัน คพ. และ วช. ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยในประเด็นการป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำเสนอผลการดำเนินงานสู่สาธารณะ รวมทั้งได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค สถาบัน องค์กรต่างๆ และภาคประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำผลการดำเนินโครงการศึกษาวิจัยต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ต่อไป