นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมงในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ได้เร่งดำเนินการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ เนื่องจากพบว่าระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทยเสื่อมโทรมลง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียของระบบหมุนเวียนสารอาหาร ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแนวปะการังซึ่งถือเป็นแหล่งสืบพันธุ์ วางไข่ อนุบาลตัวอ่อน ที่หลบภัยของสัตว์น้ำถูกลักลอบเก็บขึ้นมาจำหน่ายในตลาดปลาสวยงามเพื่อตกแต่งเลียนแบบระบบนิเวศใต้ท้องทะเล และอาจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ค้าและผู้ซื้อ กรมประมงจึงขอชี้แจงว่าสัตว์น้ำบางชนิดไม่สามารถซื้อขายหรือครอบครองได้ โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง ใช้กฎหมายหลักในการคุ้มครองสัตว์ป่า 2 ฉบับ
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้ถูกปรับปรุงขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ใช้เครื่องมือที่ไม่เอื้อต่อการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแลรักษา ฟื้นฟูสัตว์ป่า ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกในข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสัตว์ป่าและพืชป่า ซึ่งมีผลทำให้ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว เพื่อจัดให้มีมาตรการในการควบคุม ครอบครองการค้า การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า
โดยกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 ตามบัญชี ท้ายกฎกระทรวงนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ กัลปังหาทุกชนิดในอันดับ (Order) Gorgonacea กัลปังหาดำทุกชนิดในอันดับ (Order) Antipatharia ดอกไม้ทะเลทุกชนิดในอันดับ (Order) Actinaria ปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับ (Order) Scleractinia และในอันดับ (Order) Stylasterina ปะการังไฟทุกชนิดในสกุล (Genus) Milleporina ปะการังสีฟ้าทุกชนิดในอันดับ (Order) Helioporacea ปะการังอ่อนทุกชนิดในอันดับ (Order) Alcyonacea หอยมือเสือทุกชนิดในวงศ์ (Family) Tridacnidae
กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีบทกำหนดโทษที่รุนแรง เพื่อป้องกันการกระทำผิด ดังนั้นการเลี้ยงสัตว์ทะเลเพื่อความสวยงามผู้เลี้ยงและผู้ค้าจะต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ชัดเจนเสียก่อนว่าสัตว์น้ำชนิดไหนสามารถเลี้ยงได้ สำหรับท่านที่สนใจสามรถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ โทร. 0-2561-1418 หรือ www4.fisheries.go.th/fishmanagement ®