ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ประธานเปิดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กล่าวว่า จากสถิติที่ผ่านมาในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2564 พบว่ามีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟเกิดขึ้น 437 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 162 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 434 ราย ยังไม่รวมผู้พิการจากอุบัติเหตุอีกจำนวนหลายราย จากตัวเลขดังกล่าว ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งงบประมาณภาครัฐ และความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนที่ไม่อาจประเมินค่าได้ รัฐบาลจึงได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนนและปัญหาการจราจรติดขัด ผ่านการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง
ทั้งนี้ได้เร่งปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟในปัจจุบันให้มีความมั่นคง ปลอดภัยเพิ่มขึ้น พัฒนารถไฟทางคู่ ก่อสร้างรถไฟสายใหม่ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง ซึ่งได้มีการออกแบบแก้ไขปัญหาจุดตัดทางถนนและทางรถไฟเป็นจุดตัดต่างระดับ ทั้งสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ สะพานกลับรถข้ามทางรถไฟ ทางลอดใต้ทางรถไฟ สะพานรถไฟแบบยกระดับ รวมทั้งยกเลิกจุดตัดทางผ่านที่อยู่ใกล้เคียงกัน ไปรวมใช้ทางผ่านต่างระดับโดยการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางรางที่มีความปลอดภัยให้เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าหลักของประเทศ
จากการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา ขร. ได้ลงสำรวจจุดตัดทั่วประเทศกว่า 2,975 จุด พบว่า ยกเลิกใช้แล้ว 218 แห่งและเป็นจุดตัดต่างระดับแล้ว 621 จุด คงเหลือจุดตัดเสมอระดับ 2,136 จุด ประกอบด้วย ทางผ่านที่มีเครื่องกั้นแล้ว 1,358 จุด ทางผ่านที่เป็นป้ายจราจร 152 จุด และทางลักผ่าน 626 จุด รวมทั้งได้มีการรับฟังความคิดในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี และภาคกลาง จังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อนำมาจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ โดยแบ่งเป็นเส้นทางรถไฟทางคู่ในปัจจุบัน ทางคู่ในอนคต และทางเดี่ยว ซึ่งมีจุดตัดที่ต้องแก้ไขในระยะด่วน 35 จุด ระยะสั้น 74 จุด ระยะกลาง 308 จุด และระยะยาว 316 จุด
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ระยะเร่งด่วน 35 จุด ขร. ได้ออกแบบรายละเอียด พร้อมประมาณการราคา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกวดราคาและก่อสร้างเพื่อแก้ไข และสำหรับระยะสั้นจะขอความร่วมมือหน่วยงานเจ้าของถนนนำผลการศึกษาจากโครงการนี้และมาตรฐานจุดตัดทางถนนและรถไฟไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจุดตัดต่อไป
นอกจากนี้ โครงการได้นำผลสำรวจจุดตัดมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลและแผนที่สารสนเทศออนไลน์ เพื่อประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลจุดตัดทางถนนและทางรถไฟผ่านมือถือ และแจ้งข้อมูลอุบัติเหตุหรือจุดตัดที่ชำรุด โดยสแกน QR Code ผ่านแอพพลิเคชั่น DRT Crossing เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้ง โครงการได้มีการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุโดยการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก และช่วยบันทึกข้อมูลปริมาณการจราจรอีกด้วย
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า โครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาจุดตัดทางรถไฟที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ประชาชนที่สัญจรผ่านได้รับความปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุ บริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถไฟ ทำให้ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟได้รับความปลอดภัย และมีความรวดเร็วในการเดินทางเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไขปัญหาจุดตัดให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เกิดการยอมรับของชุมชน ซึ่งโครงการนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่พัฒนาโครงข่ายทางรถไฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเชื่อมโครงข่ายทางรถไฟ สู่สากล และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป